Abstract:
วิจัยนี้เป็นวิจัยเชิงคุณภาพซึ่งใช้ระเบียบวิธีการวิจัยที่ใช้การปฏิบัติเป็นฐาน ก่อนการลงมือปฏิบัติผู้วิจัยได้ทบทวรรณกรรม ทฤษฎีนอน-เพลส (สถานที่ไม่มีตัวตน) ทุนทางวัฒนธรรม พลเมืองโลก และการออกแบบเรขศิลป์ เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงปริมาณอันจะช่่วยต่อยอดการวิพากษ์ผลงานออกแบบในขั้นต่อไปได้ดียิ่งขึ้น ผู้วิจัยจึงทำการวิเคราะห์เนื้อหาภาพโดยใช้ผลงานที่ได้รับรางวัลสาขาการสร้างสถานที่และอัตลักษณ์ของ SEGD (2020-2016) ปฏิบัติการทำงานสร้างสรรค์ประกอบไปด้วย (1) การออกแบบร่างและการสัมภาษณ์นักออกแบบเรขศิลป์มืออาชีพจำนวน 3 ท่าน (2) โปรเจกชันแมปปิง ณ สถานที่จริงในเมืองพิมายจำนวน 3 จุดพร้อมการสัมภาษณ์ (N=21) (3) ต้นแบบองค์ประกอบเรขศิลป์พร้อมแบบสอบถามออนไลน์ (N=99) (4) อัตลักษณ์เชิงภาพสำหรับแบรนด์เพื่อสถานที่พร้อมการเวิร์กชอปการออกแบบร่วมกันกับผู้เข้าร่วมจำนวน 2 กลุ่ม (N=7 และ N=8) การลงมือปฏิบัติสิ้นสุดลงในขั้นตอนการออกแบบขั้นสุดท้ายเพื่อจัดทำแบรนด์เมืองพิมาย ผลลัพธ์แสดงให้เห็นว่า (1) เนื้อหาเชิงพลเมืองโลกควรมุ่งความสนใจไปที่การที่อดทนต่อคนเชื้อชาติอื่นอย่างผู้ดี และ/หรือ การตอบสนองต่อภัยคุกคามโลกแบบเอาจริงเอาจัง (2) สไตล์ซอฟต์ป๊อปได้รับคะแนนนิยมสูงอย่างมีนัยสำคัญจากผู้ถูกสัมภาษณ์ (3) คนที่เป็นพลเมืองโลกก็เป็นคนช่างเลือกเช่นกัน ดังนั้นนักออกแบบควรเผื่อทางเลือกไว้เสมอเพื่อให้เขาเหล่านั้นไปผสมเอาเองตามชอบใจ (4) งานเรขศิลป์ที่ผสมผสานกับนิทรรศการและเฟอร์นิเจอร์มีแนวโน้มสูงที่จะแก้ภาวะนอน-เพลส (5) การสร้างความเป็นสถานที่ด้วยสื่อดิจิทัลเป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้ไปเสียแล้ว ผู้จัยมีข้อโต้แย้งว่าแนวคิดเรื่องอัตลักษณ์ในทฤษฎีนอน-เพลสของมาร์ก ออเชนั้นมีปัญหา ในบทสุดท้ายจะเป็นการอภิปรายเรื่องการนำแนวคิดรื้อสร้างมาใช้กับการสร้างความเป็นสถานที่