Abstract:
วิทยานิพนธ์เรื่องพระอินทร์ในนาฏกรรมไทยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการแสดงของตัวละครพระอินทร์ในนาฏกรรมไทย ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ด้วยการศึกษาเอกสาร การสัมภาษณ์ และการชมการแสดง โดยศึกษาจากนาฏกรรมที่จัดแสดงโดยหน่วยงานสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม และเป็นตัวละครพระอินทร์ที่มีรูปแบบการรำตัวพระ ผลการวิจัยพบว่า พระอินทร์มีฐานะเป็นอธิเทพและเป็นตัวละครสำคัญในนาฏกรรมไทย ตัวละครพระอินทร์มีคุณลักษณะสำคัญในการแสดงจากปัจจัย 3 ประการ คือ คติความเชื่อทางศาสนา ความเชื่อของสังคมไทย และวรรณคดีไทย ที่ส่งผลต่อการแสดงในด้านสถานภาพ ฐานานุศักดิ์ หน้าที่ เทวานุภาพ อันนำมาสู่การกำหนดบุคลิกลักษณะ องค์ประกอบการแสดง รวมถึงการออกแบบการแสดงและกระบวนท่ารำที่เป็นแบบแผนเฉพาะ บทบาทสำคัญของพระอินทร์คือเป็นผู้คอยให้ความช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก โดยสอดส่องดูแลโลกมนุษย์และไปช่วยเหลือตัวละครได้อย่างทันท่วงที บทบาทของพระอินทร์แฝงไว้ด้วยแง่คิด คติธรรม คำสอน ตามแนวทางพระพุทธศาสนา องค์ประกอบการแสดงสำคัญที่บ่งบอกลักษณะเฉพาะของพระอินทร์ในนาฏกรรมไทยได้อย่างชัดเจนคือการแต่งกายยืนเครื่องพระสีเขียวสดเพราะมีกายสีเขียว สวมศิราภรณ์ชฎายอดเดินหนเพราะมักมีบทบาทเดินทางไปในเหตุการณ์ต่างๆ มีวชิราวุธทำให้เกิดสายฟ้าฟาดเป็นอาวุธประจำกาย มีกระบวนรำเฉพาะตนแทรกอยู่ในการแสดงโขนและละครเพื่อเปิดโอกาสให้เห็นความสำคัญของพระอินทร์ในฐานะอธิเทพที่มาปรากฏในเวทีละคร จึงเป็นช่วงที่ผู้แสดงจะได้อวดฝีมือในบทบาทพระอินทร์ได้อย่างเต็มภาคภูมิ การแสดงพระอินทร์ปรากฏเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน มีการอนุรักษ์ สร้างสรรค์ สืบทอด และพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจนเป็นแบบแผนของการแสดงในปัจจุบัน ผู้วิจัยขอเสนอว่าควรศึกษาต่อยอดเกี่ยวกับพระอินทร์ในศิลปะการแสดงพื้นบ้าน โดยเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงวิชาการของศิลปะการแสดงประเภทต่างๆ ให้ครอบคลุมเพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลองค์ความรู้ทางนาฏกรรมไทยต่อไปได้