Abstract:
วิทยานิพนธ์เรื่องนี้มีวัตถุประสงค์ศึกษายี่เกเขมรสุรินทร์ ซึ่งเป็นการแสดงพื้นบ้านเพื่ออนุรักษ์ไว้ในฐานะพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต ด้วยวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ จากเอกสาร การสัมภาษณ์ สังเกตการณ์ การลงภาคสนาม โดยมีขอบเขตการศึกษาการแสดงยี่เกเขมรในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ตั้งแต่อดีตจนถึง พ.ศ. 2564 ผลวิจัยพบว่า ยี่เกเขมรสุรินทร์เป็นการแสดงอาชีพในชุมชนเขมรถิ่นไทยในอีสานใต้ ที่ได้รับอิทธิพลจากลิเกของกรุงเทพฯ ผ่านนครราชสีมา ซึ่งแพร่มาตามทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-อุบลราชธานี และจากละครยี่เกบริเวณจังหวัดเสียมราฐของราชอาณาจักรกัมพูชา ประมาณพ.ศ. 2425 แล้วพัฒนาให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมของชุมชน ยี่เกเขมรสุรินทร์ในปัจจุบันพบว่ามี 4 คณะ แต่ละคณะมีสมาชิกเป็นเครือญาติ ยี่เกเขมรสุรินทร์อยู่ในมีสภาวะเสื่อมถอยเนื่องจากไม่เป็นที่นิยมจึงขาดการสืบทอดการแสดง ศิลปินส่วนใหญ่สูงวัยและลดจำนวนลงอีกทั้งศิลปินรุ่นใหม่ก็มีน้อย โอกาสที่แสดงเป็นงานบันเทิง งานพิธีกรรม งานสาธิต และมีเพียงคณะเดียวที่จัดการแสดงได้เต็มรูปแบบ การแสดงยี่เกเขมรสุรินทร์มี 4 ขั้นตอนสำคัญ ขั้นแรก คือ การปลูกโรงชั่วคราวไม่หันหน้าไปทางตะวันตกและไม่แสดงใต้ถุนอาคาร ขั้นที่ 2 คือ การไหว้ครูและเบิกโรง ขั้นที่ 3 คือ การแสดงดำเนินเรื่องอย่างละคร และขั้นที่ 4 คือ การลาโรง องค์ประกอบการแสดง ได้แก่ บทละครซึ่งพัฒนามาจากบทละครนอกและนิทานพื้นบ้านเป็นภาษาเขมรถิ่นไทย ตัวละครแบ่งเป็นตัวพระ ตัวนาง ตัวรำประกอบบทซึ่งใช้ผู้หญิงแสดง และตัวเบ็ดเตล็ดใช้ผู้ชายแสดง ผู้แสดงร้องพร้อมรำทำบทและรำเพลงด้วยตนเอง วงดนตรีประกอบด้วยปี่ในบรรเลงทำนอง และกลองรำมะนา 2-4 ใบทำจังหวะ เพลงแบ่งเป็นเพลงรำทำบทกับเพลงรำชุดซึ่งมีทำนองของเขมรถิ่นไทย เครื่องแต่งกายเป็นแบบพื้นบ้านสีสดใส ตัวพระสวมเสื้อแขนสั้น นุ่งโจงกระเบนไหม สวมชฎา กรองคอ เข็มขัด กำไล ตัวนางสวมเสื้อแขนสั้นห่มสะไบ นุ่งซิ่นไหม สวมกระบังหน้า ตัวเบ็ดเตล็ดสวมหน้ากากรูปสัตว์ หรืออมนุษย์ อุปกรณ์ประจำกายทำด้วยไม้ที่มีน้ำหนักเบา รูปแบบการแสดงที่เด่นเป็นพิเศษคือ นางรำจะรำเป็นชุดอย่างพร้อมเพรียงเพื่อเป็นพื้นหลังของตัวละครเอกที่กำลังรำทำบทต่าง ๆ อยู่ ผู้วิจัยจะนำความรู้จากการวิจัยนี้ไปจัดทำเป็นหลักสูตรให้เยาวชนได้ฝึกหัด และแสดงเพื่ออนุรักษ์ยี่เกเขมรให้เป็นอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของเขมรถิ่นไทยสืบไป และขอเสนอแนะให้มีการค้นคว้าวิจัยการแสดงท้องถิ่นอื่น ๆ ที่ใกล้จะสูญหายเพื่ออนุรักษ์ไว้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นนั้นตลอดไป