Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ ผู้วิจัยได้ศึกษาปัจจัยที่สร้างขวัญกำลังใจในการสร้างสรรค์งานของศิลปินทางด้านนาฏยศิลป์ในสังคมอุดมคติ และนำข้อมูลมาสร้างสรรค์ผลงานนาฏยศิลป์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหารูปแบบและแนวคิดที่ได้หลังจากการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์เพื่อสร้างขวัญกำลังใจในการสร้างสรรค์งานของศิลปินทางด้านนาฏยศิลป์ในสังคมอุดมคติ โดยใช้รูปแบบงานวิจัยเชิงคุณภาพและงานวิจัยเชิงสร้างสรรค์ ที่มีการศึกษาข้อมูลจากเอกสารทางวิชาการ การสัมภาษณ์ การสังเกตการณ์ การสัมมนา สื่อสารสนเทศเกณฑ์การสร้างมาตรฐานการยกย่องบุคคลต้นแบบทางด้านนาฏยศิลป์ และประสบการณ์ส่วนตัวของผู้วิจัย มาเป็นแนวทางในการวิเคราะห์ สังเคราะห์ และสร้างสรรค์ผลงานทางด้านนาฏยศิลป์
ผลการวิจัยพบว่า รูปแบบของนาฏยศิลป์สร้างสรรค์ในครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 8 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) บทการแสดง ได้รับแรงบันดาลใจมาจากปัจจัยที่สร้างขวัญกำลังใจในการสร้างสรรค์ผลงาน โดยนำปัจจัยตรงกันข้ามกับปัจจัยที่สร้างขวัญกำลังใจมาสร้างสรรค์เป็นบทการแสดง แบ่งออกเป็น 6 องก์ ได้แก่ องก์ 1 การสนับสนุน องก์ 2 อิจฉาริษยา องก์ 3 ใส่ร้ายป้ายสี องก์ 4 คัดลอกผลงาน องก์ 5 ดองงาน และองก์ 6 ขัดแข้งขัดขา 2) นักแสดง ไม่จำกัดเพศ มีทักษะทางด้านนาฏยศิลป์ไทย นาฏยศิลป์ตะวันตกและศิลปะการละคร จำนวน 16 คน 3) ลีลานาฏยศิลป์ ใช้ลีลานาฏยศิลป์ไทย การเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวัน การเคลื่อนไหวแบบมินิมอลลิสม์ (minimalism) การเคลื่อนไหวร่างกายแบบด้นสด และการทำซ้ำ 4) อุปกรณ์ประกอบการแสดง ออกแบบโดยคำนึงถึงความเหมาะสมตามบทการแสดงเป็นหลัก เน้นการสื่อความหมายทั้งทางตรงและทางอ้อม 5) เสียงและดนตรีประกอบการแสดง ออกแบบเสียงโดยคำนึงถึงความเรียบง่ายและความหลากหลาย 6) เครื่องแต่งกาย ออกแบบเครื่องแต่งกายให้เหมาะสมตามบทการแสดงโดยใช้สัญลักษณ์เพื่อสื่อความหมาย และการแต่งกายตามบทบาทของตัวละคร 7) พื้นที่การแสดง ออกแบบโดยใช้แนวคิด แบบ มินิมอลลิสม์ (minimalism) โดยเลือกใช้พื้นที่ห้องโล่งสี่เหลี่ยมผืนผ้าเป็นพื้นที่การแสดง 8) แสง ใช้แสงที่สื่อถึงอารมณ์และบรรยากาศของการแสดง นอกจากนี้ผู้วิจัยยังได้คำนึงถึงแนวคิดที่ได้หลังจากการสร้างสรรค์ผลงาน โดยคำนึงถึงแนวคิดที่สำคัญ 7 ประการ ได้แก่ 1) การคำนึงถึงการสร้างขวัญกำลังใจในการสร้างสรรค์ผลงาน 2) การคำนึงถึงการสะท้อนภาพของสังคมโดยใช้นาฏยศิลป์ 3) การคำนึงถึงความคิดสร้างสรรค์ในงานนาฏยศิลป์ 4) การคำนึงถึงการใช้สัญลักษณ์ในการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์ 5) การคำนึงถึงทฤษฎีด้านนาฏยศิลป์ ดุริยางคศิลป์ และทัศนศิลป์ 6) การคำนึงถึงความหลากหลายของรูปแบบการแสดง และ 7) การคำนึงถึงความเรียบง่ายตามแนวคิดนาฏยศิลป์หลังสมัยใหม่ ซึ่งผลการวิจัยทั้งหมดนี้มีความสอดคล้องและตรงตามวัตถุประสงค์ของการวิจัยทุกประการ