Abstract:
วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบทบาทและพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นวิจัยเชิงคุณภาพที่ใช้การวิจัยเอกสารประวัติศาสตร์ โดยศึกษาเฉพาะเบื้องหลังของการสร้างสรรค์ผลงานละคร ผลวิจัยพบว่า พระราชประวัติและผลงานนาฏกรรมแบ่งเป็นสี่ช่วงคือ ช่วงที่หนึ่ง ทรงพระเยาว์ (พ.ศ. 2423-2436) ทรงเรียนรู้เรื่องนาฏกรรมจากประสบการณ์ในราชสำนัก ช่วงที่สอง เสด็จประทับในประเทศอังกฤษ (พ.ศ. 2436-2445) ทรงศึกษาวิชาการตามระบบการศึกษา ได้ทอดพระเนตรการแสดงในโรงละครต่าง ๆ อย่างสนพระทัย ทรงดัดแปลงบท และทรงพระราชนิพนธ์บทละคร จัดและแสดงในโอกาสต่าง ๆ ช่วงที่สาม เมื่อเสด็จนิวัติพระนคร (พ.ศ.2445-2453) ทรงเพิ่มพูนประสบการณ์ในการจัดแสดงโขน และละครอย่างไทยและยุโรป ช่วงที่สี่ เมื่อทรงครองราชย์ (พ.ศ.2453-2468) ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงเลือกใช้นาฏกรรมรูปแบบต่าง ๆ อย่างพิถีพิถัน เพื่อเป็นเครื่องมือสื่อความรู้ความคิดในการพัฒนาราษฎร เฉกเช่นการนำชาดกมาแสดงเป็นละครรำแฝงธรรมะแต่เดิมมา บทละครที่ทรงสร้างสรรค์มี 154 เรื่อง แบ่งเป็น 8 ประเภท ด้วยรูปแบบที่ทรงดำริขึ้นใหม่ แบบปรับปรุงของเดิม แบบแปลงจากเค้าเรื่องเดิม แบบแปลบทตรงคำต่อคำของต้นฉบับ และแบบคิดโครงเรื่องให้ด้นสด ทรงมีหลายบทบาท ทั้งพระราชนิพนธ์บทละคร ผู้อำนวยการแสดง ผู้กำกับการแสดง ผู้แสดงหลัก ผู้ออกแบบศิลป์ ผู้วิจัยและผู้วิจารณ์ ทรงสร้างนาฏกรรมเพื่อสื่อสารการแสดงให้คนดูตระหนักถึงการมีความรู้ มีอุดมการณ์ มีศิลปวัฒนธรรม การเป็นพลเมืองที่รู้จักหน้าที่ต่อตนเองต่อสังคมและประเทศชาติ ทรงศึกษาค้นคว้าวิจัยเชิงประจักษ์ แล้วทรงพระราชนิพนธ์บทและปรับปรุงแก้ไข ทรงสร้างนาฏกรรมจากภูมิรู้ ภูมิธรรม และภูมิปัญญา เน้นวาทกรรมของตัวละครเพื่อชี้แนะชี้นำและเตือนสติสังคมด้วยการสื่อสารที่เรียบง่ายได้ทั้งสาระความรู้และความบันเทิง จึงเป็นตัวอย่างในการใช้นาฏกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพของประชาชนและสังคมได้เป็นอย่างดีแม้ในปัจจุบัน นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ และเสนอแนะให้มีการวิจัยในเรื่องนาฏกรรมกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตต่อไป