Abstract:
วิทยานิพนธ์ระดับดุษฎีบัณฑิตฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อหารูปแบบการแสดงและแนวคิดที่ได้หลังจากการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์เพื่อกระตุ้นความสนใจของคนรุ่นใหม่ที่มีต่อเทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพและการวิจัยเชิงสร้างสรรค์ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย การวิเคราะห์ข้อมูลจากเอกสารเชิงวิชาการ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ การสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยการสังเกตการณ์ การสัมมนาวิชาการ เกณฑ์การสร้างมาตรฐานในการยกย่องบุคคลต้นแบบทางด้านนาฏยศิลป์ และประสบการณ์ส่วนตัวของผู้วิจัย มาเป็นแนวทางในการวิเคราะห์ สังเคราะห์และสร้างสรรค์ผลงานทางด้านนาฏยศิลป์
ผลการวิจัยพบว่า การสร้างสรรค์งานเป็นการนำปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในงานแห่เทียนเข้าพรรษามาสร้างสรรค์เพื่อกระตุ้นความสนใจของคนรุ่นใหม่ให้เกิดความตระหนักและภาคภูมิใจในงานประเพณี แสดงสาระสำคัญถึงเรื่องความศรัทธาในพุทธศาสนา สังคมเกิดความผูกพัน สามัคคี การสำนึกรักบ้านเกิดของคนคืนถิ่น การสืบทอดงานช่างแกะสลักเทียนและบุญประเพณี สะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่นำเสนอขบวนแห่เทียนในรูปแบบการแสดงละครภาพนิ่งตาโบลวิวังต์ ดังองค์ประกอบการแสดงทั้ง 8 ประการ คือ 1) บทการแสดงที่เล่าถึงขบวนแห่เทียนในอดีต ปัจจุบัน อนาคต ได้แก่ องก์ 1 ภาพจำงานเทียนในอดีต องก์ 2 ความสนใจของคนรุ่นใหม่ที่ถดถอยในปัจจุบัน และองก์ 3 การกระตุ้นความสนใจของคนรุ่นใหม่ในอนาคต 2) ลีลานาฏยศิลป์ นำเสนอศิลปะแนวเรียบง่ายมินิมอลลิสส์ ที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายแบบนาฏยศิลป์หลังสมัยใหม่ การแสดงนาฏยศิลป์พื้นบ้านอีสาน ลีลาท่าทางในชีวิตประจำวัน การด้นสด การเคลื่อนไหวแบบพลวัต นำมาสู่การสร้างสรรค์งานที่เป็นแบบนาฏยศิลป์เพื่อการแสดงละคร มานำเสนอเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวตามบทการแสดง 3) นักแสดง เป็นอาสาสมัครของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ได้แก่ นักแสดงที่ไม่เคยได้รับการฝึกฝน นักร้อง นักดนตรี และศิลปินศิลปะสื่อผสม 4) การออกแบบเครื่องแต่งกาย ใช้รูปแบบมินิมอลลิสม์ 5) เสียง ใช้เพลงพื้นบ้านอีสานวงโปงลาง บรรเลงร่วมกับดนตรีสากลสร้างสรรค์ประกอบบทร้องทำนองหมอลำที่ประพันธ์ขึ้นใหม่ 6) พื้นที่การแสดง จัดแสดงในพื้นที่แบบเปิดที่กลุ่มคนรุ่นใหม่เข้าถึงได้โดยง่าย 7) แสง เป็นการใช้แสงธรรมชาติของพื้นที่ เพื่อลดทอนรูปแบบการนำเสนอให้เรียบง่ายที่สุด ดังปรากฏแสงหลากสีที่เปรียบเสมือนแสงไฟในงานวัด 8) อุปกรณ์การแสดง ใช้แนวคิดมินิมอลลิสม์ ที่เน้นการใช้สัญลักษณ์ ความเรียบง่าย ประหยัด เข้าใจง่าย นอกจากนี้ผู้วิจัยยังได้คำนึงถึงแนวคิดที่ได้หลังจากการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์ ได้แก่ 1) ความคิดสร้างสรรค์ในการเลือกหัวข้อเพื่อสร้างสรรค์ผลงานการแสดง 2) อัตลักษณ์และการสืบทอดเทียนพรรษา 3) ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสนใจของคนรุ่นใหม่ที่มีต่อเทียนพรรษา 4) การกระตุ้นความสนใจของคนรุ่นใหม่ 5) ผลงานการแสดง 6) ความคิดสร้างสรรค์ในงานนาฏยศิลป์ 7) การใช้สัญลักษณ์ 8) ความหลากหลายของรูปแบบการแสดง และ 9) แนวคิดทางด้านนาฏยศิลป์ ดุริยางคศิลป์และทัศนศิลป์ ซึ่งผลการวิจัยทั้งหมดนี้มีความสอดคล้องและตรงตามวัตถุประสงค์ของการวิจัยทุกประการ