Abstract:
การวิจัยกึ่งทดลองนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการให้ข้อมูลและน้ำมันหอมระเหยต่อความวิตกกังวลในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดช่องท้องในระยะก่อนผ่าตัด หลังผ่าตัดและก่อนกลับบ้านตามแนวคิดการให้ข้อมูลเพื่อให้ผู้ป่วยพร้อมที่จะเผชิญเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยใช้ทฤษฏีการปรับตนเองของ Leventhal และแนวคิดน้ำมันหอมระเหย กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ป่วยที่มีอายุระหว่าง 18-59 ปี ได้รับการผ่าตัดช่องท้อง ณ. โรงพยาบาลตำรวจ แบ่งเป็นกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลอง กลุ่มละ 22 คน โดยจับคู่ อายุ เพศ โรคทางระบบย่อยอาหาร กลุ่มทดลองได้รับการให้ข้อมูลและการใช้น้ำมันหอมระเหย โดยเนื้อหาของข้อมูลที่ให้เป็นข้อมูลในระยะก่อนผ่าตัด หลังผ่าตัดและก่อนกลับโดยใช้คู่มือการปฎิบัติตัวสำหรับผู้ที่ได้รับการผ่าตัดช่องท้องที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้น ส่วนกลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาลตามปกติ ความวิตกกังวลใช้แบบประเมินความวิตกกังวลต่อสถานการณ์ (The State Anxiety Inventory [STAI] Form Y) มีค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาคได้เท่ากับ 0.71 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติ One Way Repeated Measures Anova
ผลการวิจัยสรุปดังนี้
1. ค่าเฉลี่ยคะแนนความวิตกกังวลของผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดช่องท้อง กลุ่มที่ได้รับโปรแกรมการให้ข้อมูลและการใช้น้ำมันหอมระเหย ในระยะหลังผ่าตัด ต่ำกว่ากลุ่มที่ได้รับการพยาบาลตามปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
2. ค่าเฉลี่ยคะแนนความวิตกกังวลของผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดช่องท้อง กลุ่มที่ได้รับโปรแกรมการให้ข้อมูลและการใช้น้ำมันหอมระเหย ในระยะก่อนผ่าตัดและระยะก่อนกลับบ้าน ไม่แตกต่างจากกลุ่มที่ได้รับการพยาบาลปกติ (P > .05)
การให้ข้อมูลและการใช้น้ำมันหอมระเหย สามารถลดความวิตกกังวล ของผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดช่องท้อง ในระยะหลังผ่าตัด ได้ดีกว่ากลุ่มที่ได้รับการพยาบาลปกติ ส่วนในระยะก่อนผ่าตัดและก่อนกลับบ้าน พบว่าไม่แตกต่างจากผู้ป่วยกลุ่มที่ได้รับการพยาบาลปกติ