Abstract:
การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยแบบบรรยายเชิงเปรียบเทียบ เพื่อศึกษาประสบการณ์การมีอาการและวิธีการจัดการอาการภายหลังการขยายหลอดเลือดหัวใจในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจภายหลังการขยายหลอดเลือดหัวใจ จำนวน 423 คน คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างด้วยวิธีการสุ่มแบบหลายขั้นตอนจากผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจที่มาติดตามการรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอกโรคหัวใจและหลอดเลือด จำนวน 3 โรงพยาบาลของรัฐระดับตติยภูมิในกรุงเทพมหานคร เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม 3 ส่วน คือ 1) แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล 2) แบบสอบถามประสบการณ์การมีอาการภายหลังการขยายหลอดเลือดหัวใจ และ 3) แบบสอบถามวิธีการจัดการอาการภายหลังการขยายหลอดเลือดหัวใจ ผ่านการตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ 5 คน ค่าดัชนีความตรงตามเนื้อหา เท่ากับ 1.00 และ .95 ตามลำดับ ตรวจสอบความเที่ยงของเครื่องมือ มีค่าสัมประสิทธิ์ KR-20 และค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาครอนบาค ของแบบสอบถามประสบการณ์การมีอาการภายหลังการขยายหลอดเลือดหัวใจใน 4 มิติ คือ มิติการเกิดอาการ มิติความถี่ มิติความรุนแรง และมิติความทุกข์ทรมาน ได้เท่ากับ .85, .85, .87 และ .86 ตามลำดับ และแบบสอบถามวิธีการจัดการอาการภายหลังการขยายหลอดเลือดหัวใจ ในด้านการเลือกปฏิบัติวิธีการจัดการอาการ และประสิทธิผลวิธีการจัดการอาการ เท่ากับ .90 และ .91 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา สถิติทดสอบที และสถิติวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว ผลการศึกษาสรุปได้ดังต่อไปนี้ 1. อัตราการมีอาการภายหลังการขยายหลอดเลือดหัวใจ คิดเป็นร้อยละ 52.7 (223 คน) 2. ประสบการณ์การมีอาการภายหลังการขยายหลอดเลือดหัวใจที่กลุ่มตัวอย่างรายงานมากที่สุด ในมิติการเกิดอาการ คือ อาการรู้สึกเหนื่อยง่าย/อ่อนเพลีย คิดเป็นร้อยละ 67.7 มิติความถี่ คือ อาการขาบวม โดยกลุ่มตัวอย่างรายงานความถี่ของอาการอยู่ในระดับมาก (Mean ± SD = 3.13 ± 1.19) มิติความรุนแรง และมิติความทุกข์ทรมาน คือ อาการเบื่ออาหาร โดยกลุ่มตัวอย่างรายงานความรุนแรง และความทุกข์ทรมานของอาการอยู่ในระดับปานกลาง (Mean ± SD = 3.05 ± .97 และ 3.05 ± .97 ตามลำดับ) 3. วิธีการจัดการอาการภายหลังการขยายหลอดเลือดหัวใจที่กลุ่มตัวอย่างเลือกใช้มากที่สุด คือ นั่งหรือนอนพัก คิดเป็นร้อยละ 86.1 ซึ่งเป็นวิธีการจัดการสำหรับอาการเหนื่อยง่าย/อ่อนเพลียที่มีประสิทธิผลการจัดการอาการอยู่ในระดับมาก (Mean ± SD = 4.05 ± .96) 4. การเปรียบเทียบประสบการณ์การมีอาการภายหลังการขยายหลอดเลือดหัวใจ ทั้ง 4 มิติ พบว่า เพศเป็นตัวแปรเดียวที่กลุ่มตัวอย่างรายงานประสบการณ์การมีอาการภายหลังการขยายหลอด เลือดหัวใจ แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (t = 2.59, df = 100.49, p = .01)