Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา ระดับความเครียดของผู้ดูแลผู้มีภาวะสมองเสื่อมและศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง เพศ ความสัมพันธ์ต่างเกื้อกูลกับผู้สูงอายุ ชั่วโมงในการดูแล คุณภาพการนอนหลับ ความสอดคล้องในการมองโลก อารมณ์ขัน กับความเครียดในผู้ดูแลผู้มีภาวะสมองเสื่อม กลุ่มตัวอย่างคือ คือผู้ดูแลหลักที่มีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปเพศชายและเพศหญิงที่ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม ได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะสมองเสื่อมระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง และมารับการตรวจติดตามผลการรักษา ณ คลินิกผู้สูงอายุ แผนกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลระดับตติยภูมิ 2 แห่ง จำนวน 120 คน ใช้วิธีการเลือกกลุ่มตัวอย่าง แบบหลายขั้นตอน เครื่องมือในการเก็บข้อมูลได้แก่ แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบวัดภาระในการดูแลของผู้ดูแลผู้มีภาวะสมองเสื่อม แบบประเมินการนอนหลับของผู้ดูแล แบบวัดอารมณ์ขันหลายมิติ แบบสอบถามความสัมพันธ์ต่างเกื้อกูลระหว่างผู้สูงอายุและญาติผู้ดูแล และแบบประเมินทดสอบความสอดคล้องในการมองโลก ผ่านการตรวจสอบจากผู้ทรงคุณวุฒิ 5 คน ได้ค่าความตรงตามเนื้อหาของแบบสอบถามเท่ากับ 1 , 0.96 , 1 , 0.99 และ 0.98 ตามลำดับและมีค่าความเที่ยงเท่ากับ 0.89, 0.97, 0.95, 0.91 และ 0.83 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงบรรยาย และค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบสเปียร์แมน
ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้
1. ระดับความเครียดของผู้ดูแลผู้มีภาวะสมองเสื่อมโดยรวมคือ ไม่มีภาวะเครียด คิดเป็นร้อยละ 51.7
2. เพศ ไม่มีความสัมพันธ์กับความเครียดของผู้ดูแลผู้มีภาวะสมองเสื่อม โดยในเพศชายและเพศหญิงมีความเครียดโดยรวมไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
3. ปัจจัยความสัมพันธ์ต่างเกื้อกูลกับผู้มีภาวะสมองเสื่อม และ ความสอดคล้องในการมองโลก มีความสัมพันธ์กับภาวะความเครียดของผู้ดูแล อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ p<0.001 (r= - 0.598, p<0.001) และ (r= - 0.246, p=0.001) ตามลำดับ
4. ชั่วโมงในการดูแล และ คุณภาพการนอนหลับ ไม่มีความสัมพันธ์กับความเครียดของผู้ดูแลผู้มีภาวะสมองเสื่อม (p= 0.132 และ 0.790 ตามลำดับ)
5. อารมณ์ขัน มีความสัมพันธ์กับภาวะความเครียดของผู้ดูแลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ p<0.001