Abstract:
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนาโดยใช้วิธีวิจัยแบบเดลฟายเพื่อศึกษาตัวชี้วัดผลลัพธ์ความปลอดภัยของผู้ป่วยและพยาบาลวิชาชีพ แผนกอุบัติเหตุและฉุกเฉิน โรงพยาบาลตติยภูมิ ผู้ให้ข้อมูลเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านระบบการรักษาพยาบาลฉุกเฉิน การดูแลผู้ป่วยแผนกอุบัติเหตุและฉุกเฉิน โรงพยาบาลตติยภูมิ จำนวน 20 คน คัดเลือกแบบเจาะจงและแบบวิธีบอกต่อ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสัมภาษณ์และแบบสอบถาม ซึ่งผ่านการตรวจสอบความตรงโดยผู้เชี่ยวชาญ วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพโดยใช้การวิเคราะห์เนื้อหา และใช้สถิติบรรยาย ได้แก่ มัธยฐานและพิสัยระหว่าง
ควอไทล์
ผลการวิจัยพบว่า ตัวชี้วัดผลลัพธ์ความปลอดภัยของผู้ป่วย แผนกอุบัติเหตุและฉุกเฉิน โรงพยาบาลตติยภูมิ ประกอบด้วย 7 ด้าน ได้แก่ 1) ความปลอดภัยจากการได้รับการดูแลในภาวะฉุกเฉิน 2) ความปลอดภัยจากการได้รับการดูแลส่งต่อภายนอกโรงพยาบาล 3) ความปลอดภัยจากการได้รับการดูแลส่งต่อภายในโรงพยาบาลและการดูแลรักษาต่อเนื่อง 4) ความปลอดภัยด้านการสื่อสารและสัมพันธภาพกับทีมสุขภาพ 5) ความปลอดภัยด้านการติดเชื้อ 6) ความปลอดภัยด้านสิ่งแวดล้อม 7) ความปลอดภัยด้านการได้รับยาและเลือด โดยมีตัวชี้วัดทั้งหมด 59 ตัวชี้วัด มีค่ามัธยฐานอยู่ในช่วง 3.75 – 4.75 และค่าพิสัยระหว่างควอไทล์อยู่ในช่วง .25 – 2.02 ส่วนตัวชี้วัดผลลัพธ์ความปลอดภัยของพยาบาลวิชาชีพ แผนกอุบัติเหตุและฉุกเฉิน โรงพยาบาลตติยภูมิ ประกอบด้วย 5 ด้าน ได้แก่ 1) ความปลอดภัยด้านสิ่งแวดล้อมในการปฏิบัติงานและการป้องกันความรุนแรง 2) ความปลอดภัยจากการได้รับการดูแลป้องกันการติดเชื้อ 3) ความปลอดภัยจากการได้รับการดูแลในระบบส่งต่อและกฎหมาย 4) ความปลอดภัยจากการได้รับการดูแลด้านสภาพจิตใจ 5) ความปลอดภัยด้านข้อมูลสารสนเทศ รวม 62 ตัวชี้วัด มีค่ามัธยฐานอยู่ในช่วง 4.12 – 4.75 และค่าพิสัยระหว่างควอไทล์อยู่ในช่วง .25 – 1.16
ผลการวิจัยครั้งนี้สามารถใช้กำหนดเป็นแนวทางการประเมินผลลัพธ์เพื่อปรับปรุงกระบวนการดูแลผู้ป่วยให้มีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ และเป็นแนวทางในการพัฒนาให้เกิดพฤติกรรมความปลอดภัยในการทำงานของพยาบาลวิชาชีพ แผนกอุบัติเหตุและฉุกเฉิน ในโรงพยาบาลระดับตติยภูมิ