Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความร่วมมือในการใช้ยากันชักของผู้ป่วยภายหลังได้รับการผ่าตัดศัลยกรรมระบบประสาทสมองระบบประสาทและสมอง และความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยคัดสรร ได้แก่ การรับรู้เกี่ยวกับการเจ็บป่วย การจัดการตนเอง ภาวะซึมเศร้า อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา การสนับสนุนทางสังคม กับความร่วมมือในการใช้ยากันชักของผู้ป่วยภายหลังได้รับการผ่าตัดศัลยกรรมระบบประสาทและสมอง กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ป่วยเพศชายและหญิง อายุ 18-59 ปี ที่ได้รับการรักษาจากแพทย์โดยการผ่าตัดทางระบบประสาทและสมอง และได้รับการรักษาด้วยการใช้ยากันชัก ที่มารับการตรวจในแผนกผู้ป่วยนอกศัลยกรรมระบบประสาทและสมอง โรงพยาบาลรามาธิบดี และสถาบันประสาทวิทยาจำนวน 110 คน ด้วยวิธีการสุ่มอย่างง่าย โดยการจับฉลากแบบไม่แทนที่ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบประเมินข้อมูลส่วนบุคคล แบบประเมินการรับรู้เกี่ยวกับการเจ็บป่วย แบบประเมินการจัดการตนเอง แบบประเมินภาวะซึมเศร้า แบบประเมินอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา แบบประเมินการสนับสนุนทางสังคม และแบบประเมินความร่วมมือในการใช้ยากันชัก ที่ผ่านการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ วิเคราะห์หาความเที่ยงโดยการใช้สัมประสิทธิ์อัลฟาครอนบาคได้เท่ากับ 0.73, 0.70, 0.75, 0.90, 0.94 และ 0.78 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าต่ำสุด ค่าสูงสุด และ Spearman rank correlation ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้
1. ร้อยละ 77.3 ของผู้ป่วยภายหลังได้รับการผ่าตัดศัลยกรรมระบบประสาทและสมอง มีความร่วมมือในการใช้ยากันชักอยู่ในระดับดี
2. การรับรู้เกี่ยวกับการเจ็บป่วย (r = -.340) และอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (r = -.242) มีความสัมพันธ์ทางลบกับความร่วมมือในการใช้ยากันชักของผู้ป่วยภายหลังได้รับการผ่าตัดศัลยกรรมระบบประสาทและสมองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3. การจัดการตนเอง ภาวะซึมเศร้า และการสนับสนุนทางสังคม ไม่มีความสัมพันธ์กับความร่วมมือในการใช้ยากันชักอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05