Abstract:
วิจัยนี้เป็นวิจัยแบบกึ่งทดลอง มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพในผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีระยะลุกลาม ก่อนได้รับโปรแกรมและภายหลังได้รับโปรแกรมในสัปดาห์ที่ 1 สัปดาห์ที่ 2 และสัปดาห์ที่ 6 กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีระยะลุกลาม ซึ่งมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนดจำนวน 24 คน ได้รับโปรแกรมเป็นเวลา 2 สัปดาห์ เครื่องมือในการวิจัย คือ โปรแกรมการดูแลวิถีพุทธ และ แบบประเมิน Functional Assessment of Chronic Illness Therapy–Palliative Care (FACIT-Pal) ฉบับภาษาไทย วิเคราะห์ค่าดัชนีความตรงตามเนื้อหาของแบบประเมิน FACIT-Pal ได้ 0.89 และค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาครอนบาคได้ 0.94 วิเคราะห์ผลด้วยสถิติการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียวแบบวัดซ้ำ (One-way repeated ANOVA)
ผลวิจัยสรุปได้ดังนี้ คุณภาพชีวิตด้านสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีระยะลุกลามหลังได้รับโปรแกรมสัปดาห์ที่ 1 และสัปดาห์ที่ 2 มากกว่าก่อนได้รับโปรแกรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .05 เมื่อจำแนกรายมิติพบว่ามิติความผาสุกด้านจิตอารมณ์หลังได้รับโปรแกรม สัปดาห์ที่1 สัปดาห์ที่ 2 และ สัปดาห์ที่ 6 มากกว่าก่อนได้รับโปรแกรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่.05 สรุปได้ว่า โปรแกรมการดูแลวิถีพุทธสามารถส่งเสริมคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพของผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีระยะลุกลามได้ แม้ว่าในสัปดาห์ที่ 6 คุณภาพชีวิตด้านสุขภาพมีแนวโน้มลดลง แต่ผลลัพธ์ของโปรแกรมยังคงสามารถส่งเสริมความผาสุกด้านจิตอารมณ์ของผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีระยะลุกลามได้ต่อเนื่อง