Abstract:
วัตถุประสงค์: ผลของการบริบาลทางเภสัชกรรมต่อผลลัพธ์ทางคลินิก และผลลัพธ์แบบองค์รวมในการบริบาลทางเภสัชกรรมผู้ป่วยจิตเภท วิธีการวิจัย: การวิจัยแบบสุ่มมีกลุ่มควบคุมชนิดปกปิดฝ่ายเดียว ทำการศึกษาในผู้ป่วยจิตเภทได้รับการรักษาในโรงพยาบาลศรีธัญญา ระหว่างเดือนมกราคม ถึงเดือนมิถุนายน 2564 จำนวน 130 ราย สุ่มแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มควบคุมได้รับการรักษาตามมาตรฐาน และกลุ่มศึกษาได้รับการบริบาลทางเภสัชกรรมร่วมกับการรักษาตามมาตรฐาน ติดตามผลลัพธ์ตั้งแต่การรักษาเป็นผู้ป่วยใน จนกระทั่งเปลี่ยนสถานะเป็นผู้ป่วยนอก ประเมินผลลัพธ์ทางคลินิกจากสัดส่วนของจำนวนอาการไม่พึงประสงค์ที่เปลี่ยนแปลงดีขึ้น ประเมินผลลัพธ์แบบองค์รวมด้านพฤติกรรมการใช้ยาและคุณภาพชีวิตด้านการใช้ยาด้วยเครื่องมือ MTB-Thai และ PROMPT ฉบับย่อ ตามลำดับ ผลการวิจัย: เมื่อสิ้นสุดการศึกษา กลุ่มศึกษามีผลลัพธ์ทางคลินิกและผลลัพธ์แบบองค์รวมที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม โดยพบสัดส่วนของจำนวนอาการไม่พึงประสงค์ที่เปลี่ยนแปลงดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (89.30% และ 39.10 %; p<0.001) ส่วนผลลัพธ์แบบองค์รวม กลุ่มศึกษามีคะแนนเฉลี่ยพฤติกรรมการใช้ยามากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (22.81 ± 1.61 และ 16.85 ± 3.00; p < 0.001) และกลุ่มศึกษามีคะแนนเฉลี่ยคุณภาพชีวิตด้านการใช้ยามากกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม ได้แก่ มิติที่ 1 การได้รับข้อมูลโรคและยา (p = 0.015) มิติที่ 3 ผลกระทบจากอาการข้างเคียงของยา (p = 0.003) มิติที่ 5 ความสะดวกในการใช้ยา (p = 0.023) และมิติที่ 7 ความสัมพันธ์ทางด้านการรักษา (p = 0.041) สรุปผล: ผลของการบริบาลทางเภสัชกรรมในผู้ป่วยจิตเภท ส่งผลให้ผู้ป่วยมีความปลอดภัยจากการใช้ยาต้านโรคจิต และมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ยาและคุณภาพชีวิตด้านการใช้ยาที่ดีขึ้น