Abstract:
พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ถูกตราขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการแข่งขันในกิจการไฟฟ้า และมีบทบัญญัติที่เปิดโอกาสให้มีผู้ประกอบกิจการค้าปลีกไฟฟ้าได้หลายราย ประกอบกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ ที่ทำให้เอกชนผู้ค้าปลีกไฟฟ้า ผู้รวบรวมไฟฟ้า (Aggregators) ซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการไฟฟ้าในรูปแบบธุรกิจใหม่ และผู้ใช้ไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง (Prosumer) สามารถจำหน่ายไฟฟ้า และจัดหาบริการเสริมความมั่นคงในระบบไฟฟ้า (Ancillary Services) ได้ รวมถึงการซื้อขายไฟฟ้าในรูปแบบการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างผู้ใช้ไฟฟ้า (Peer-to-Peer: P2P) ได้ แต่ปัจจุบัน การแข่งขันในกิจการค้าปลีกไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง ผู้ใช้ไฟฟ้ายังต้องซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)
จากการศึกษาเปรียบเทียบกับมาตรการทางกฎหมายในการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการค้าปลีกไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยในสหราชอาณาจักร ซึ่งถือเป็นประเทศต้นแบบ และข้อกำหนดกิจการไฟฟ้าของคณะกรรมาธิการยุโรป พบว่า มาตรการทางกฎหมายตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ยังมีข้อจำกัดในแต่ละลำดับชั้นการซื้อขายไฟฟ้า ประการที่หนึ่ง การมีส่วนร่วมในการค้าปลีกไฟฟ้า โดยประเภทของใบอนุญาตประกอบกิจการยังไม่ครอบคลุมการประกอบกิจการไฟฟ้าในรูปแบบใหม่ และการพัฒนาแพลตฟอร์มการซื้อขายไฟฟ้าแบบ P2P ประการที่สอง ความสามารถในการซื้อขายไฟฟ้า โดยการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายซึ่งมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจทั้งสองแห่งยังคงผูกขาดการประกอบกิจการค้าปลีกไฟฟ้า ทำให้มีโอกาสในการเลือกปฏิบัติ ใช้อำนาจเหนือตลาดที่เกี่ยวข้องในทางมิชอบ สืบเนื่องจากสภาพการผูกขาดดังกล่าว สิทธิในการใช้และเชื่อมต่อระบบจำหน่ายไฟฟ้าเพื่อการค้าปลีกไฟฟ้าแบบ P2P ยังคงถูกจำกัดเฉพาะผู้ประกอบกิจการไฟฟ้าบางประเภทเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ วิทยานิพนธ์ฉบับนี้จึงได้เสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมมาตรการทางกฎหมายต่าง ๆ เพื่อทำลายข้อจำกัดดังกล่าวทั้งสามลำดับชั้นควบคู่กันไป ป้องกันมิให้มีการใช้อำนาจเหนือตลาดของการไฟฟ้ารัฐวิสาหกิจทั้งสองแห่งโดยมิชอบ และส่งเสริมให้เอกชน ผู้ใช้ไฟฟ้า และผู้ประกอบกิจการไฟฟ้าในรูปแบบใหม่ สามารถค้าปลีกไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยได้โดยอยู่ภายใต้การควบคุมกำกับของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน