Abstract:
ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นปัญหาที่ถูกกล่าวถึงกันมาอย่างยาวนาน โดยล่าสุดได้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาขึ้นเพื่อทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสทางการศึกษาให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียมกัน อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานของกองทุนดังกล่าวมีข้อพึงพิจารณาว่า อาจจะมีความซ้ำซ้อนกับการดำเนินงานของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาซึ่งเป็นทุนหมุนเวียนที่เกี่ยวข้องกับการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของประเทศเช่นเดียวกัน วิทยานิพนธ์ฉบับนี้จึงมุ่งศึกษาถึงข้อจำกัดทางกฎหมาย รวมทั้งปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา โดยทำการศึกษาเปรียบเทียบกับกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา
จากการศึกษา พบว่า กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษากับกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาต่างก็เป็นทุนหมุนเวียนขนาดใหญ่ที่จัดตั้งขึ้นโดยกฎหมายเฉพาะและมีฐานะนิติบุคคลเช่นเดียวกัน แต่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาจะจัดสรรเงินช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายในรูปแบบทุนให้เปล่าจึงมีลักษณะเป็นทุนหมุนเวียนเพื่อการสงเคราะห์และสวัสดิการสังคม ในขณะที่กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาจัดสรรเงินช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายในรูปแบบทุนให้กู้ยืมจึงมีลักษณะเป็นทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืม โดยกองทุนทั้งสองมีกลุ่มเป้าหมายที่จะต้องให้ความช่วยเหลือบางส่วนซ้ำซ้อนกัน และจากการศึกษาเปรียบเทียบกองทุนทั้งสองเพื่อวิเคราะห์ปัญหาและอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พบว่า กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาอาจมีปัญหาอันเนื่องมาจากการกำหนดวัตถุประสงค์ในการดำเนินการไม่ชัดเจน ส่งผลทำให้ไม่สามารถกำหนดขอบเขตการดำเนินงานของกองทุนได้อย่างแน่ชัด และมีกลุ่มเป้าหมายที่ต้องให้ความช่วยเหลือหลายกลุ่ม ทำให้การจัดสรรงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดไม่สามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายทุกกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังมีปัญหาเกี่ยวกับแหล่งที่มาของรายได้ที่มีลักษณะไม่ต่อเนื่องและแน่นอนทำให้กองทุนน่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความมั่นคงทางการเงิน รวมทั้งปัญหาความไม่สอดคล้องของแนวทางการประเมินผลที่กำหนดไว้แตกต่างจากแนวทางของกรมบัญชีกลาง จึงเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาโดยให้แก้ไขบทบัญญัติแห่งกฎหมายในส่วนที่กำหนดวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานของกองทุนให้ชัดเจน และควรกำหนดแหล่งรายได้ที่มั่นคงและแน่นอนให้แก่กองทุน รวมทั้งควรกำหนดวงรอบการประเมินผลกองทุนให้สอดคล้องกับแนวทางของกรมบัญชีกลาง ทั้งนี้ เพื่อให้กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาสามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพตามความมุ่งหมายของการจัดตั้ง