Abstract:
ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นคุณค่าสำคัญที่มีติดตัวมนุษย์ทุกคนมาแต่กำเนิด และเป็นหลักการที่เหล่าประชาคมระหว่างประเทศต่างมุ่งให้รัฐต้องรับรองคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ซึ่งประเทศไทยมีการบัญญัติรับรองคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้แก่ประชาชนทุกคนไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เป็นฉบับแรก และมีการบัญญัติรับรองคุ้มครองเรื่อยมาโดยปรากฏในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ซึ่งเป็นฉบับที่บังคับใช้ในปัจจุบัน จึงสะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มุ่งคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แก่บุคคลทุกคน โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างทางเพศ ภาษา ศาสนา หรือสถานะอื่นใด ทั้งนี้ การกระทำใด ๆ ของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอาจกระทบต่อสิทธิเสรีภาพบางประการของบุคคลได้ แต่ไม่อาจกระทบต่อสิทธิขั้นพื้นฐานซึ่งเป็นสารัตถะสำคัญของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
แม้ปัจจุบันจะมีการบัญญัติรับรองคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไว้อย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 แต่กลับปรากฏกรณีการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในประเทศไทยอยู่เรื่อยมา โดยเฉพาะการละเมิดต่อบุคคลผู้เป็นทหารในกองทัพไทย ซึ่งพวกเขามีอีกฐานะหนึ่งที่เป็นประชาชนของรัฐ กรณีการละเมิดที่มักจะเกิดขึ้นกับทหารในลักษณะเดิมเรื่อยมาย่อมแสดงให้เห็นว่ามาตรการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทหารในกองทัพไทยยังคงขาดความสมบูรณ์ โดยอาจเห็นได้จากกฎหมายทหาร คำสั่ง ระเบียบ ข้อบังคับหรือแนวปฏิบัติของทหารในกองทัพ ตลอดจนมาตรการอื่นใดที่ยังไม่สามารถปกป้องคุ้มครองทหารได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งส่งผลให้การคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทหารในกองทัพไทยนั้นไม่สอดคล้องต่อหลักการสำคัญที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้รับรองคุ้มครองแก่ประชาชนทุกคนไว้ อีกทั้ง ยังไม่สอดคล้องต่อมาตรฐานสากลที่ประเทศไทยให้การยอมรับในสนธิสัญญาที่มุ่งคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้วยเช่นกัน ดังนี้ จึงต้องศึกษามาตรฐานสากลทั้งหลายที่มีส่วนสำคัญต่อการปกป้องคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทหาร ประกอบกับ มาตรการคุ้มครองทหารของต่างประเทศในลักษณะต่าง ๆ เช่น การคุ้มครองทหารจากความรุนแรง การคุ้มครองทหารจากการเลือกปฏิบัติ การคุ้มครองสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของทหาร การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของทหาร การเข้าถึงกระบวนการชดใช้เยียวยาของทหาร เพื่อเห็นถึงมาตรการทางกฎหมายหรือมาตรการอื่นใดที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมแก่การนำมาปรับใช้ในประเทศไทย ซึ่งจะทำให้การคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทหารในกองทัพไทยมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น