Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาแนวความคิด หลักเกณฑ์ มาตรการทางกฎหมาย และสภาพปัญหาของการควบคุมการบริจาคให้แก่พรรคการเมืองในหลักการทั่วไป และการวิเคราะห์ปัญหาทางกฎหมายของการควบคุมการบริจาคให้แก่พรรคการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองพ.ศ. 2560 เพื่อเสนอแนวทางในการแก้ไขที่เหมาะสมกับบริบทสังคมไทย โดยวิธีการค้นคว้าและรวบรวมข้อมูลจากหนังสือ บทความวิชาการ วิทยานิพนธ์ รายงานการวิจัย เอกสารของต่างประเทศที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องในเรื่องของการควบคุมการบริจาคให้แก่พรรคการเมือง
ผลการศึกษาพบว่า บทบัญญัติเกี่ยวกับการควบคุมการบริจาคให้แก่พรรคการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ยังไม่ครอบคลุมเพียงพอกับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการบริจาคให้แก่พรรคการเมืองที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ปัญหาในเชิงบทบัญญัติไม่ครอบคลุม กรณีปัญหาต่างๆ อาทิเช่น การแบ่งจำนวนเงินบริจาคผ่านบริษัทในเครือ การบริจาคโดยคู่สัญญารัฐ และการกู้ยืมเงิน ซึ่งส่งทำให้การควบคุมการบริจาคให้แก่พรรคการเมืองขาดประสิทธิภาพ ตลอดจนไม่เอื้อให้เกิดดุลยภาพระหว่างเสรีภาพในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคการเมืองอันเป็นการพัฒนาความเข้มแข็งของพรรคการเมืองไทยในระยะยาวกับการควบคุมเรื่องการเงินของพรรคการเมือง
ดังนั้นผู้วิจัยจึงมีข้อเสนอแนะดังนี้ ประการแรก ควรมีการปรับปรุงแก้ไขบทบัญญัติหรือการหรือการตรากฎหมายการควบคุมการบริจาคให้แก่พรรคการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 เพิ่มเติม โดยเฉพาะในมาตรา 66 มาตรา 72 ในเรื่องการห้ามและการจำกัดการบริจาคให้ชัดเจน (เช่น บทบัญญัติให้พรรคการเมืองสามารถกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินได้แบบมีเงื่อนไข) และ มาตรา 4 (3) ประการที่สอง ควรมีการกำหนดรายละเอียดของคำว่า “บริจาค” และ “ประโยชน์อื่นใด” ให้ครอบคลุมสภาพการณ์ปัจจุบันเพื่อการลดตีความและบังคับใช้ให้ชัดเจน ประการที่สาม ควรมีการกำหนดโทษในกรณีที่มีการฝ่าฝืนมาตรการควบคุมการบริจาคให้แก่พรรคให้สอดคล้องกับหลักการพื้นฐานของหลักความได้สัดส่วนหรือหลักความพอสมควรแก่เหตุ