Abstract:
วิทยานิพนธ์เล่มนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษาปัญหาเกี่ยวกับมาตรการทางกฎหมายเกี่ยวกับการกำกับดูแลการขายหลักทรัพย์โดยที่บริษัทหลักทรัพย์ยังไม่มีหลักทรัพย์นั้นอยู่ในครอบครองของประเทศไทย สำหรับลูกค้าที่เป็นผู้ลงทุนสถาบัน โดยทำการศึกษามาตรการทางกฎหมายของประเทศไทย เพื่อเปรียบเทียบกับมาตรการทางกฎหมายของต่างประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เครือรัฐออสเตรเลีย ประเทศญี่ปุ่น สาธารณรัฐสิงคโปร์ ประเทศมาเลเซีย และเขตปกครองพิเศษฮ่องกง เพื่อนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบ และเสนอปรับปรุงแก้ไขให้มาตรการทางกฎหมายของประเทศไทยมีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น
จากการศึกษาค้นคว้าพบว่า มาตรการทางกฎหมายของประเทศไทยได้กำหนดหน้าที่การตรวจสอบหลักทรัพย์ของผู้ลงทุน และหน้าที่เกี่ยวกับการขายชอร์ตแก่บริษัทหลักทรัพย์เพียงฝ่ายเดียว แต่บริษัทหลักทรัพย์ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดได้ เช่น บริษัทหลักทรัพย์ไม่สามารถตรวจสอบหลักทรัพย์ของผู้ลงทุนสถาบันที่มีผู้ดูแลรักษาหลักทรัพย์ เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้น การที่มาตรการทางกฎหมายของประเทศไทยไม่ได้กำหนดหน้าที่ และความรับผิดของผู้ลงทุนสถาบันไว้ เป็นการผลักภาระหน้าที่ความรับผิดซึ่งควรจะเป็นของผู้ลงทุน ให้บริษัทหลักทรัพย์ต้องรับผิดชอบแทนทั้งหมด
ด้วยเหตุนี้ วิทยานิพนธ์นี้จึงเสนอให้มีการกำหนดความรับผิดของผู้ลงทุนสถาบันที่ขายหลักทรัพย์โดยที่ไม่มีหลักทรัพย์อยู่ในครอบครอง ในหมวดการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และเสนอแนะให้ผู้ขายชอร์ตมีหน้าที่ในการยืมหลักทรัพย์ และยืนยันแก่บริษัทหลักทรัพย์ว่า ตนเองได้ยืมหลักทรัพย์เพื่อการขายชอร์ตเรียบร้อยแล้ว และในท้ายที่สุด ผู้ขายชอร์ตควรมีหน้าที่แสดงสถานะการขายชอร์ตแก่บริษัทหลักทรัพย์อีกด้วย