Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะแสวงหาที่มา ความสำคัญ การปรับใช้ของกฎหมายอาญาเรื่องเหยียดยหยาม เพื่อปรับปรุงแก้ไขให้มีความชัดเจน และเป็นเอกภาพ จากการศึกษาพบว่าในประมวลกฎหมายอาญาเรื่องเหยียดหยามมีการนำมาใช้ใน 2 รูปแบบ กล่าวคือ เป็นองค์ประกอบภายในแบบเจตนาพิเศษ ในมาตรา 118 ความผิดฐานเหยียดหยามธงชาติไทย และมาตรา 135 ความผิดฐานเหยียดหยามธงรัฐอื่น และเป็นข้อเท็จจริงประกอบความผิดในมาตรา 206 ความผิดฐานเหยียดหยามศาสนา และมาตรา 366/4 ความผิดฐานเหยียดหยามศพ ทำให้เกิดความสับสน และเหลื่อมล้ำในตัวบทกฎหมายอีกทั้งมีความคลุมเครือว่าการกระทำใดบ้างจึงเรียกว่าเหยียดหยาม ตามประมวลกฎหมายอาญา
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้จึงเสนอให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาเรื่องเหยียดหยามให้เป็นองค์ประกอบความผิดในรูปแบบเดียวกันทุกมาตราโดยเป็นองค์ประกอบภายในแบบเจตนาพิเศษโดยบัญญัติว่า "เพื่อเหยียดหยาม..." และเพิ่มเติมคำว่า "โดยตรง" ในตัวบทกฎหมาย เนื่องจากเรื่องเหยียดหยามต้องเป็นการกระทำต่อสิ่งที่กฎหมายมุ่งคุ้มครองตามมาตรานั้นโดยตรงซึ่งจะทำให้หลักเกณฑ์ในการพิจารณาเกิดความชัดเจนว่าการกระทำใดจึงจะมีความผิดเรื่องเหยียดหยามในประมวลกฎหมายอาญา ลดการใช้ดุลพินิจของผู้พิพากษาหรืออาศัยความเห็นของคนทั่วไปในสังคมที่ไม่มีความแน่นอน เมื่อเกิดความชัดเจนว่าการกระทำใดผิดเหยียดหยามและมีความเป็นเอกภาพในประมวลกฎหมายอาญาแล้วจะเป็นไปตามหลัก "ความชัดเจนแน่นอนของกฎหมายอาญา"