Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมในการบัญญัติความรับผิดของผู้ช่วยเหลือผู้กระทำความผิดภายหลังการกระทำความผิดประเภทการให้ที่พำนักและซ่อนเร้นผู้กระทำความผิด โดยผู้วิจัยมุ่งศึกษา แนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือผู้กระทำความผิดภายหลังการกระทำความผิด บทบัญญัติของกฎหมายไทยและกฎหมายต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดที่เป็นการให้ที่พำนักและซ่อนเร้นผู้กระทำความผิด เพื่อนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบหาหลักเกณฑ์ในการกำหนดความรับผิดและการกำหนดโทษ
เนื่องจากประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 189 บัญญัติองค์ประกอบความผิดในส่วนของผู้รับการช่วยเหลือไว้สองกรณีคือผู้ต้องหาและผู้กระทำความผิด ทำให้เกิดความไม่สอดคล้องกันในการปรับใช้กฎหมายกรณีที่การช่วยเหลือผู้ต้องหาที่สุดท้ายแล้วศาลตัดสินว่าไม่ใช่ผู้กระทำความผิด คำพิพากษาศาลฎีกาได้วินิจฉัยว่ากรณีเช่นนี้ ผู้ช่วยเหลือผู้ต้องหานั้นไม่มีความรับผิดตามมาตรา 189 ซึ่งขัดแย้งกับแนวคิดของนักกฎหมายอาญาหลายท่านที่มีความคิดเห็นว่าไม่ตรงตามตัวบท เมื่อศึกษาพบว่าการช่วยเหลือผู้กระทำความผิดในรูปแบบนี้ แม้จะเป็นความรับผิดเฉพาะแต่ยังมีความสัมพันธ์กับการกระทำความผิดหลักอยู่โดยที่การพิจารณาความรับผิดนั้นต้องได้ความว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้นจริง และการกำหนดอัตราโทษจะต้องไม่เกินไปกว่าการกระทำความผิดหลัก
ดังนั้นวิทยานิพนธ์ฉบับนี้จึงมีข้อเสนอแนะให้มีการแก้ไขบทบัญญัติประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 189 ในส่วนของผู้รับการช่วยเหลือให้เหลือเพียงผู้กระทำความผิดเพื่อให้สอดคล้องกับทฤษฎีของการให้ที่พำนักและซ่อนเร้นผู้กระทำความผิดว่าต้องมีการกระทำความผิดเกิดขึ้นจริง และไม่ให้เกิดปัญหากรณีที่การช่วยเหลือผู้ต้องหา ที่ภายหลังผู้ต้องหาไม่ใช่ผู้กระทำความผิด และเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การกำหนดระวางโทษของผู้ช่วยเหลือผู้กระทำความผิดไม่ให้เกินไปกว่าการกระทำความผิดผู้รับการช่วยเหลือ