Abstract:
การดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class action) เป็นวิธีการที่สามารถคุ้มครองผู้เสียหายจำนวนมากได้ในการดำเนินคดีเพียงครั้งเดียว โดยผลของคำพิพากษาในคดีจะผูกพันถึงสมาชิกกลุ่มที่ได้รับการดำเนินคดีแทน การเยียวยาความเสียหายจึงต้องมีความเหมาะสมและยุติธรรมต่อบุคคลจำนวนมากเหล่านั้น วิทยานิพนธ์ฉบับนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิเคราะห์ถึงความเหมาะสมของสถานการณ์และแนวทางต่าง ๆ ในการกำหนดค่าเสียหายที่เพิ่มเติมนอกเหนือจากค่าสินไหมทดแทนตามความเสียหายที่แท้จริง หรือค่าเสียหายเชิงลงโทษ (Punitive Damages) ในการดำเนินคดีแบบกลุ่ม โดยจากการศึกษาพบว่า ค่าเสียหายเชิงลงโทษในระบบกฎหมายไทยปรากฏในกฎหมายพิเศษบางฉบับเท่านั้นจึงยังไม่ครอบคลุมทุกลักษณะคดีในการดำเนินคดีแบบกลุ่มจากพฤติการณ์กระทำผิดร้ายแรงที่สมควรนำค่าเสียหายเชิงลงโทษมาปรับใช้เพื่ออำนวยความยุติธรรมให้แก่กลุ่มผู้เสียหาย ประกอบกับการตีความบทบัญญัติทั่วไปในมาตรา 438 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ให้รวมถึงการกำหนดค่าเสียหายเชิงลงโทษอย่างชัดเจน ย่อมเป็นการไม่เหมาะสม กล่าวคือ มาตรา 438 ได้ร่างขึ้นโดยยึดถือหลักเกณฑ์ของการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามความเสียหายที่แท้จริง โดยทำให้ผู้เสียหายกลับคืนสู่สภาพเดิมมากที่สุด จึงสมควรกำหนดค่าเสียหายเชิงลงโทษในคดีแบบกลุ่มสำหรับสถานการณ์ที่ความเสียหายเกิดจากการกระทำความผิดโดยมีเจตนานำไปสู่พฤติการณ์ที่ร้ายแรงอย่างมาก (Malice) หรือโดยจงใจ (Willfulness) หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง (Gross Negligence) เพื่อลงโทษและป้องปรามจำเลยไม่ให้หวนกลับมากระทำความผิดอันเป็นเยี่ยงอย่างแก่บุคคลอื่นในสังคมปฏิบัติตาม ด้วยเหตุนี้ วิทยานิพนธ์ฉบับนี้จึงเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาดังกล่าว โดยเสนอแนะให้มีการนำหลักการเรื่องค่าเสียหายเชิงลงโทษมาบัญญัติเพิ่มเติมในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438/1 โดยมีหลักเกณฑ์พิจารณาอย่างชัดเจน เพื่อความเป็นเอกภาพในการใช้เป็นกรอบประกอบดุลพินิจของศาล โดยโจทก์และสมาชิกกลุ่มได้รับการเยียวยาชดเชยอย่างยุติธรรมมากที่สุดและส่งผลให้มีการป้องปรามการกระทำความผิดร้ายแรงอันเป็นการไม่สมควรและไม่พึงประสงค์ต่อสังคมอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น