Abstract:
วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผลของสารยึดติดที่ใช้ผนึกเนื้อฟันต่อการก่อตัวของวัสดุพิมพ์ฟัน วัสดุและวิธีการ ฟันกรามใหญ่ของมนุษย์ที่ปราศจากรอยผุ จำนวน ๒๒๕ ซี่ ฝังในท่อพลาสติกด้วยอะคริลิก โดยให้ตัวฟันโผล่ขึ้นมา ตัดด้านบดเคี้ยวออกในแนวตั้งฉากกับแกนฟันด้วยเครื่องตัดความเร็วต่ำจนเนื้อฟันเผยออก แบ่งฟันเป็น ๔ กลุ่ม กลุ่มละ ๕๕ ซี่ ตามชนิดของสารยึดติดที่ใช้ผนึกเนื้อฟัน ได้แก่ กลุ่มที่ ๑.ฟันที่เคลือบด้วยด้วยสารยึดติดเซลฟ์เอทช์ซีโนไฟฟ์พลัสและซิงเกิลบอนด์ยูนิเวอร์ซอลในสภาวะออกซิเจน กลุ่มที่ ๒.เนื้อฟันที่เคลือบสารยึดติดเซลฟ์เอทช์ทั้งสองชนิดอยู่ในสภาวะก๊าซไนโตรเจน กลุ่มที่ ๓.เนื้อฟันที่ไม่มีการเคลือบด้วยสารใด ๆ และกลุ่มที่ ๔.ฟันที่เคลือบด้วยสารยึดติดทั้งสองชนิดแล้วถูกเช็ดด้วยแอลกอฮอล์ โดยหลังทาด้วยสารยึดติดจะทำการบ่มด้วยแสง ที่ตามองเห็นจากเครื่องฉายแสง จากนั้นปิดทับด้วยวัสดุพิมพ์พอลิไวนิลไซลอกเซนกลุ่มละ ๑๐ ซี่ เมื่อปล่อยให้วัสดุพิมพ์ก่อตัว ๖ นาที นำวัสดุพิมพ์ออกเพื่อตรวจสอบการก่อตัวที่ผิวหน้าด้วยตาเปล่าและด้วยกล้องจุลทรรศน์ชนิดสเตอริโอ จากนั้นทดสอบด้วยวัสดุพิมพ์พอลิอีเทอร์โดยวิธีเดียวกัน นำส่วนชิ้นทดสอบที่เหลืออีกกลุ่มละ ๑๐ ชิ้น วัดค่าความเป็นกรดด่าง และอีกกลุ่มละ ๕ ชิ้น ไปวิเคราะห์หาธาตุที่ผิวหน้าด้วยกล้องอิเล็กตรอนส่องกราดฟังก์ชั่นอีดีเอ็มเอ็กซ์ ผลการศึกษา เนื้อฟันที่เคลือบสารยึดติดเซลฟ์เอทช์ทั้งสองชนิดมีค่าความเป็นกรดด่างใกล้เคียงกัน และร้อยละร้อยของวัสดุพิมพ์ด้านที่สัมผัสกับผิวหน้าของชิ้นทดสอบกลุ่มที่ ๑ และกลุ่มที่ ๒ ที่เคลือบด้วยสารยึดติดเซลฟ์เอทช์ซีโนไฟฟ์พลัสถูกยับยั้งการก่อตัว ขณะที่ผิวหน้าของวัสดุพิมพ์ด้านที่สัมผัสกับผิวหน้าชิ้นทดสอบกลุ่มที่ ๓ และกลุ่มที่ ๔ มีการก่อตัวสมบูรณ์ เมื่อดูด้วยตาเปล่าและด้วยกล้องจุลทรรศน์ชนิดสเตอริโอ ส่วนของการหาธาตุบนผิวฟันของทั้งสามกลุ่ม พบว่าผิวเนื้อฟันที่เคลือบด้วยสารยึดติดเซลฟ์เอทช์ซีโนไฟฟ์พลัสมีองค์ประกอบของธาตุซัลเฟอร์ขณะที่ผิวเนื้อฟันที่เคลือบด้วยสารยึดติดเซลฟ์เอทช์ซิงเกิลบอนด์ยูนิเวอร์ซอล และเนื้อฟันที่ไม่มีการเคลือบด้วยสารใด ๆ ไม่พบธาตุดังกล่าว สรุป สารยึดติดเซลฟ์เอทช์ซีโนไฟฟ์พลัสที่ผนึกผิวเนื้อฟันมีผลต่อการบ่มตัวของวัสดุพิมพ์พอลิไวนิลไซลอกเซน
คำสำคัญ: การผนึกเนื้อฟัน สารยึดติด พอลิไวนิลไซลอกเซน