Abstract:
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบผลของการรั่วซึมระดับจุลภาคและค่าความแข็งแรงยึดติดแนวเฉือนของการบูรณะฟันด้วยสารยึดติดชนิดเซลฟ์เอทช์แบบสองขั้นตอนกับเรซินคอมโพสิตภายหลังการใช้สารลดอาการเสียวฟันโดยใช้ฟันกรามน้อยมนุษย์ 90 ซี่ แบ่งเป็น 3 กลุ่มในแต่ละการทดสอบ ได้แก่ กลุ่มควบคุม กลุ่มกลูตารัลดีไฮด์ และกลุ่มออกซาเลต โดยการทดสอบการรั่วซึมระดับจุลภาค (จำนวน 13 ซี่ต่อกลุ่ม) เตรียมโพรงฟันคลาสไฟว์ที่คอฟันด้านใกล้แก้มยาว 4 มม. กว้างและลึก 2 มม. ทำการเบเวลขอบด้านบดเคี้ยว เตรียมผิวฟันตามกลุ่มการทดลอง ตามด้วยการบูรณะฟันด้วยสารยึดติดชนิดเซลฟ์เอทช์แบบสองขั้นตอนกับเรซินคอมโพสิต จากนั้นทำการเทอร์โมไซคลิง 5,000 รอบ แล้วแช่ในสารละลายเมทิลีนบลูความเข้มข้นร้อยละ 1 และทำการประเมินการรั่วซึมระดับจุลภาค สำหรับการทดสอบความแข็งแรงยึดติดแนวเฉือน (จำนวน 17 ซี่ต่อกลุ่ม) ใช้เนื้อฟันด้านใกล้แก้ม ขัดและเตรียมผิวฟันตามกลุ่มการทดลองแล้วบูรณะฟันด้วยสารยึดติดกับเรซินคอมโพสิต จากนั้นทำการเทอร์โมไซคลิงและทดสอบความแข็งแรงยึดติดแนวเฉือนด้วยเครื่องทดสอบแรงอเนกประสงค์ ทำการวิเคราะห์การแตกหักของชิ้นงานด้วยกล้องจุลทรรศน์สเตริโอกำลังขยาย 40 เท่า ผลการศึกษาพบการรั่วซึมระดับจุลภาคที่ขอบวัสดุด้านบดเคี้ยวของทั้ง 3 กลุ่มไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในขณะที่ขอบด้านใกล้เหงือกของกลุ่มสารลดอาการเสียวฟันทั้ง 2 กลุ่มมีการรั่วซึมระดับจุลภาคสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนการรั่วซึมของขอบด้านบดเคี้ยวและขอบด้านใกล้เหงือกมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในทั้ง 3 กลุ่ม สำหรับความแข็งแรงยึดติดแนวเฉือน กลุ่มออกซาเลตมีค่าต่ำกว่ากลุ่มควบคุมและกลุ่มกลูตารัลดีไฮด์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และความล้มเหลวของการยึดติดที่เกิดขึ้นในทั้ง 3 กลุ่มส่วนใหญ่เป็นความล้มเหลวที่เกิดที่รอยต่อระหว่างสารยึดติดกับเนื้อฟัน จากผลการศึกษาจึงสรุปได้ว่าการใช้สารลดอาการเสียวฟันก่อนการบูรณะฟันด้วยสารยึดติดชนิดเซลฟ์เอทช์แบบสองขั้นตอนกับเรซินคอมโพสิตส่งผลต่อการรั่วซึมและความแข็งแรงยึดติดของวัสดุบูรณะ