Abstract:
การศึกษานี้เป็นการวิจัยภาคตัดขวางเชิงพรรณนา มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการรังแกกันในโรงเรียนในเด็กและวัยรุ่นสมาธิสั้นที่มารับการรักษาที่หน่วยจิตเวชเด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดยศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างการมีโรคร่วมอย่างโรควิตกกังวล หรือ/และโรคดื้อต่อต้าน และรูปแบบการเลี้ยงดูของครอบครัว กับการรังแกกันในโรงเรียนในเด็กและวัยรุ่นสมาธิสั้น ซึ่งเก็บข้อมูลจากผู้ปกครองและเด็กสมาธิสั้น จำนวนทั้งสิ้น 360 คน เก็บข้อมูลระหว่างเดือนกันยายน พ.ศ. 2561 ถึง เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2562 เครื่องมือในในการเก็บข้อมูลตัวอย่าง ประกอบด้วย 2 รูปแบบ ได้แก่ การใช้ข้อมูลจากเวชระเบียน และแบบสอบถาม ซึ่งประกอบไปด้วยแบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ปกครองและเด็กสมาธิสั้น แบบประเมินพฤติกรรม SNAP-IV แบบประเมินลักษณะและมิติการเลี้ยงดูลูก (PSDQ) แบบประเมินความวิตกกังวลสำหรับเด็ก (SCARED) และแบบสอบถามพฤติกรรมการรังแกและการถูกรังแกในโรงเรียน (The Olweus Bully/Victim Questionnaire) วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนาเพื่อบรรยายลักษณะข้อมูลและหาความชุก บทบาท และความถี่ของการรังแกกันในโรงเรียนในเด็กและวัยรุ่นสมาธิสั้น หลังจากนั้น วิเคราะห์ความสัมพันธ์โดยใช้สถิติเชิงอนุมาน ได้แก่ Chi-square และ Fisher’s exact test รวมถึงวิเคราะห์ปัจจัยทำนายพฤติกรรมการรังแก การถูกรังแก และการไม่เกี่ยวข้องกับการรังแกกันในโรงเรียนด้วยการวิเคราะห์การถดถอยโลจิสติก
ผลการศึกษา พบว่า ความชุกของการรังแกกันในโรงเรียนในเด็กและวัยรุ่นสมาธิสั้น อยู่ที่ร้อยละ 69.4 โดยรูปแบบการรังแกที่พบมากที่สุด คือ การรังแกกันทางวาจา ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับการถูกรังแกในโรงเรียน ได้แก่ ระดับชั้นเรียนที่ต่ำกว่ามัธยมศึกษาตอนปลาย ประเภทโรงเรียนเอกชน และการเป็นโรควิตกกังวล แต่ไม่มีปัจจัยใดที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการรังแกผู้อื่นในโรงเรียน เมื่อศึกษาปัจจัยทำนายผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการรังแกและการถูกรังแกในโรงเรียน พบว่าภาวะวิตกกังวลในเด็กและวัยรุ่น โรงเรียนเอกชน และระดับชั้นเรียน ป.4-ม.3 เป็นปัจจัยทำนายผลกระทบที่เกี่ยวข้องการถูกรังแกในโรงเรียน ในขณะที่เด็กสมาธิสั้นเพศชาย และโรคดื้อต่อต้านที่แสดงอาการปานกลางถึงรุนแรงเป็นปัจจัยทำนายผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการรังแกผู้อื่นในโรงเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ