Abstract:
ที่มา ยาเมทฟอร์มินนิยมใช้เป็นยารักษาโรคเบาหวานในปัจจุบัน แต่มีผู้ป่วยบางส่วนที่รับประทานยาเมทฟอร์มินแล้วเกิดผลข้างเคียงของระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว ปวดท้อง ท้องอืด เป็นต้น ทำให้เกิดภาวะข้างเคียงของระบบทางเดินอาหารขึ้นจนไม่สามารถรับประทานยาเมทฟอร์มินได้ตามเป้าหมาย หรือเรียกว่า metformin intolerance ซึ่งกลไกหลักเชื่อว่าเกิดจากความเข้มข้นของยาเมทฟอร์มินในทางเดินอาหารสูงขึ้น โดย organic cation transporter 1 (OCT1) เป็นโปรตีนขนส่งหลักในการนำยาเมทฟอร์มินเข้าสู่เซลล์ผนังลำไส้ ดังนั้นหากมีความหลากหลายทางพันธุกรรมของ OCT1 ที่ทำให้ OCT1 ทำงานลดลงจะทำให้ยาเมทฟอร์มินคั่งในทางเดินอาหารและเกิดผลข้างเคียงระบบทางเดินอาหาร
วัตถุประสงค์ ศึกษาความสัมพันธ์ของความหลากหลายทางพันธุกรรมของโอซีทีวันที่ตำแหน่ง rs628031 รวมถึงตำแหน่งอื่นๆ ได้แก่ rs12208357, rs72552763 และ rs1867351 กับภาวะข้างเคียงของระบบทางเดินอาหารจากการใช้ยาเมทฟอร์มิน
วิธีดำเนินการวิจัย การศึกษานี้มีผู้ป่วยทั้งหมด 107 คน โดยแบ่งเป็นกลุ่ม metformin tolerance 64 คน และ metformin intolerance 43 คน เก็บตัวอย่างเลือดและทำการตรวจหาความหลากหลายทางพันธุกรรมของยีนโอซีทีวันด้วยวิธี Direct DNA sequencing (Sanger sequencing)
ผลการวิจัย ความหลากหลายทางพันธุกรรมของยีนโอซีทีวันที่ตำแหน่ง rs628031 (c.1222A>G; p.Met408Val) มีความสัมพันธ์กับผลข้างเคียงทางเดินอาหารจากยาเมทฟอร์มินอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P-value=0.005) โดยพบว่าจีโนไทป์ GG มีโอกาสเกิด metformin intolerance มากกว่าจีโนไทป์ AG และ AA เท่ากับ 5.4 และ 1.7 เท่าตามลำดับ และพบว่าอัลลีล G เพิ่มความเสี่ยงในการเกิด metformin intolerance มากกว่าอัลลีล A เท่ากับ 2.65 เท่า (95%CI=1.39-5.15, P-value=0.001) ส่วนความหลากหลายทางพันธุกรรมของโอซีทีวันที่ตำแหน่ง rs12208357, rs72552763 และ rs1867351 ไม่พบว่ามีความสัมพันธ์กับภาวะข้างเคียงของระบบทางเดินอาหารจากการใช้ยาเมทฟอร์มิน
สรุปผล การมีความหลากหลายทางพันธุกรรมของโอซีทีวันที่ตำแหน่ง rs628031 โดยที่อัลลีล G หรือจีโนไทป์ GG สัมพันธ์กับการเกิดภาวะข้างเคียงของระบบทางเดินอาหารจากการใช้ยาเมทฟอร์มิน (metformin intolerance) มากกว่าอัลลีล A หรือจีโนไทป์ AA/AG อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ