Abstract:
ความเป็นมา ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของสมรรถนะทางร่างกายที่นำมาทดสอบกับการบาดเจ็บจากการฝึกหลักสูตรส่งทางอากาศที่จำเพาะต่อบริบทของประเทศไทย วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างผลทดสอบสมรรถนะร่างกาย ณ ช่วงก่อนเริ่มหลักสูตรกับการบาดเจ็บจากการฝึกกระโดดร่มและการฝึกภาคพื้นดินในผู้เข้ารับการฝึกหลักสูตรส่งทางอากาศของกองทัพบก
วิธีการศึกษา เป็นการศึกษาแบบไปข้างหน้า จากกลุ่มตัวอย่างคือ ผู้ที่เข้ารับการฝึกหลักสูตรส่งทางอากาศของโรงเรียนสงครามพิเศษในปี พ.ศ. 2563 จำนวน 1,375 คน เก็บข้อมูล 3 ด้านดังนี้ 1.) ข้อมูลพื้นฐานได้แก่ สมรรถนะทางร่างกายทั้ง 5 ท่า (วิ่ง 2 ไมล์ ลุกนั่ง 2 นาที ดันพื้น 2 นาที ดึงข้อ และว่ายน้ำ) ข้อมูลส่วนบุคคล และประวัติการเจ็บป่วยช่วงเริ่มต้นการฝึก 2.) ข้อมูลการบาดเจ็บจากการฝึกภาคพื้นดินภายหลังจบการฝึกภาคพื้นดินแล้ว 3) ข้อมูลการบาดเจ็บหลังการกระโดดร่มแต่ละครั้งจำนวน 5 ครั้ง วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างสมรรถนะทางร่างกายแต่ละด้านกับการบาดเจ็บจากการกระโดดร่มด้วยสถิติ Multi-level Poisson Regression นำเสนอโดยใช้ค่า Incidence Rate Ratio (IRR) และช่วงความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95 เป็นตัวชี้วัดความสัมพันธ์ วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างสมรรถนะทางร่างกายแต่ละด้านกับการบาดเจ็บจากการฝึกภาคพื้นดินด้วยสถิติ Poisson Regression นำเสนอโดยใช้ค่า Relative Risk (RR) และช่วงความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95 เป็นตัวชี้วัดความสัมพันธ์
ผลการศึกษา อุบัติการณ์การบาดเจ็บจากการกระโดดร่มคิดเป็น 34.40 ครั้ง/การกระโดดร่ม 1,000 ครั้ง (ช่วงความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95 ตั้งแต่ 30.16-39.24) ผู้ที่มีสมรรถนะท่าวิ่งน้อยสัมพันธ์กับการบาดเจ็บจากการกระโดดร่ม [Adjusted IRR 95%CI: 5.50 (3.46-8.73)] อุบัติการณ์การบาดเจ็บจากการฝึกภาคพื้นดินเป็นร้อยละ 13.30 (ช่วงความเชื่อมั่นร้อยละ 95 ตั้งแต่ 11.50-15.40) ปัจจัยด้านสมรรถนะทางร่างกายที่สัมพันธ์กับการบาดเจ็บคือ สมรรถนะทางท่าลุกนั่งที่น้อย [Adjusted RR 1.89 (1.22-2.95)] สมรรถนะท่าดันพื้นที่น้อย [Adjusted RR 2.07 (1.30-3.29)] สมรรถนะท่าดึงข้อที่น้อย [Adjusted RR 1.78 (1.15-2.77)] สรุป หนึ่งในการป้องกันการบาดเจ็บจากการกระโดดร่มด้วยสายดึงประจำที่คือการเพิ่มสมรรถนะร่างกายท่าวิ่ง ส่วนการป้องกันการบาดเจ็บจากการฝึกภาคพื้นดินคือการเพิ่มสมรรถนะร่างกายท่าลุกนั่ง ดันพื้น และดึงข้อ