Abstract:
วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาความร่วมมือในการใช้ยาและปัจจัยร่วมที่เกี่ยวข้องในผู้สูงอายุโรคซึมเศร้า ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
วิธีการศึกษา : การศึกษาวิจัยเชิงพรรณนา ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ณ แผนกผู้ป่วยนอกจิตเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปที่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเป็นโรคซึมเศร้า ได้รับยาแก้ซึมเศร้าอย่างน้อย 1 ขนาน กลุ่มตัวอย่างถูกเก็บข้อมูลผ่านแบบสอบถามชนิดตอบด้วยตนเอง จำนวน 5 ส่วน ประกอบด้วย แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป แบบวัดความเศร้าในผู้สูงอายุของไทย แบบสอบถามพฤติกรรมการใช้ยาสำหรับคนไทย แบบประเมินการสนับสนุนทางสังคม และแบบประเมินสัมพันธภาพที่ผู้ป่วยมีต่อแพทย์ผู้ทำการรักษา จากนั้นผู้วิจัยจึงเก็บข้อมูลของกลุ่มตัวอย่างผ่านฐานข้อมูลเวชระเบียนโดยใช้แบบบันทึกข้อมูลการเจ็บป่วยและการรักษาและแบบประเมินดัชนีชี้วัดความซับซ้อนของแบบแผนการใช้ยา การอธิบายข้อมูลผลการศึกษาใช้สถิติเชิงพรรณนาตามลักษณะและการกระจายของข้อมูล การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างความร่วมมือในการใช้ยาและปัจจัยที่เกี่ยวข้องใช้สถิติPearson’s Chi-square test หรือ Fisher’s exact test สำหรับเปรียบเทียบตามระดับความร่วมมือในการใช้ยา และ Spearman’s rank correlation สำหรับเปรียบเทียบตามคะแนนความร่วมมือในการใช้ยา การวิเคราะห์แบบถดถอยลอจิสติกส์ถูกใช้เพื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของความร่วมมือในการใช้ยาและปัจจัยทำนายที่เกี่ยวข้อง โดยกำหนดให้ระดับนัยสำคัญทางสถิติน้อยกว่า 0.05
ผลการศึกษา: กลุ่มตัวอย่างจำนวน 119 คน มีความร่วมมือในการใช้ยาต่ำ ร้อยละ 16.0 ปานกลาง ร้อยละ 16.8 และสูง ร้อยละ 67.2 ส่วนใหญ่ไม่เคยมีพฤติกรรมการลืมใช้ยา การใช้ยาไม่ตรงเวลาหรือไม่ตรงมื้อ การหยุดใช้ยาเองและการเพิ่มขนาดหรือลดขนาดยาเอง (ร้อยละ 84.1-96.6) การวิเคราะห์แบบถดถอยลอจิสติกส์พบว่า ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติต่อความร่วมมือในการใช้ยาระดับต่ำถึงปานกลาง คือ ความรุนแรงของอาการซึมเศร้าในระดับปานกลางถึงรุนแรง, สถานภาพโสด หย่าร้าง แยกกันอยู่ และการได้รับคำแนะนำเพิ่มเติมให้หักหรือบดเม็ดยาในแผนการรักษาโรคซึมเศร้าและโรคร่วมทางจิตเวช โดยมีค่า adjusted odds ratio (95% confidence interval) เท่ากับ 6.04(1.08 – 33.76), 2.95 (1.24 – 7.03) และ 2.56 (1.09 – 6.03) ตามลำดับ นอกจากนี้ยังพบว่า จำนวนขนานยารักษาโรคซึมเศร้าและโรคร่วมทางจิตเวช รูปแบบการสั่งใช้ยาแก้ซึมเศร้า การสนับสนุนทางสังคมและความไว้วางใจต่อการตัดสินใจทั้งหมดของแพทย์ในการให้การรักษามีความสัมพันธ์กับความร่วมมือในการใช้ยา (p<0.05)
สรุปผลการศึกษา: ผู้สูงอายุโรคซึมเศร้า ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จำนวนหนึ่งในหกมีความร่วมมือในการใช้ยาอย่างไม่เหมาะสม โดยผู้สูงอายุโรคซึมเศร้าซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงควรได้รับการติดตามความร่วมมือในการใช้ยาอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ความช่วยเหลือในการส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือในการใช้ยาอย่างเหมาะสม