Abstract:
การศึกษาในครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา ณ ช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่ง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความชุกของภาวะติดกาเฟอีน สุขภาพจิต คุณภาพการนอนหลับ รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาวะติดกาเฟอีนของพนักงานบริษัท กลุ่มตัวอย่างเป็นพนักงานบริษัทแห่งMental healthหนึ่งในกรุงเทพมหานครซึ่งเก็บข้อมูลผ่านการส่งออกแบบสอบถามออนไลน์แก่กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 1,406 คน และได้รับแบบสอบถามคืนจำนวน 347 ชุด จากนั้นเมื่อพิจารณาตามเกณฑ์การคัดออกและความสมบูรณ์ของข้อมูลแล้ว พบว่าเหลือชุดข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 321 ชุด ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 92.51 ซึ่งทำให้กลุ่มตัวอย่างในการศึกษาครั้งนี้เป็นผู้ที่บริโภคกาแฟทั้งหมด โดยเก็บข้อมูลระหว่างเดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 ถึง กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 จากกลุ่มตัวอย่างที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์การคัดเข้า เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูล ประกอบด้วย แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบสอบถามข้อมูลการบริโภคกาแฟ แบบสอบถามภาวะติดกาเฟอีน แบบสอบถามสุขภาพจิต แบบสอบถามคุณภาพการนอนหลับ แบบสอบถามการสูบบุหรี่ แบบสอบถามการดื่มสุรา และแบบสอบถามการใช้สารเสพติดอื่น ๆ ข้อมูลที่รวบรวมได้มาจากกลุ่มที่บริโภคกาแฟทั้งหมดโดยถูกนำมาวิเคราะห์โดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าต่ำสุด และค่าสูงสุด และสถิติเชิงอนุมาน ได้แก่ Chi-square, Independent t-test, Pearson’s correlation coefficient และ Logistic regression เพื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรสุขภาพจิต คุณภาพการนอนหลับ กับภาวะติดกาเฟอีน
ผลการศึกษาพบว่า จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 321 คน พบว่า ร้อยละ 55.44 ไม่มีอาการของสุขภาพจิตและโรคซึมเศร้า ร้อยละ 29.91 มีอาการในระดับน้อย ร้อยละ 13.40 มีอาการระดับปานกลาง และร้อยละ 1.25 มีอาการอยู่ในระดับสูง ตามลำดับ ด้านคุณภาพการนอนของกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีคุณภาพการนอนในระดับที่ไม่ดี คิดเป็นร้อยละ 94.08 อีกทั้งเมื่อพิจารณาจากแบบสอบถามภาวะติดกาเฟอีน กลุ่มตัวอย่างจำนวน 248 คน ถูกพิจารณาว่าเป็นผู้ติดกาเฟอีน และ 73 คน เป็นผู้ที่ไม่ติดกาเฟอีน อีกทั้งคะแนนสุขภาพจิตและคุณภาพการนอนมีความสัมพันธ์กัน (r=0.578, p<0.001) ด้านปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับภาวะติดกาเฟอีนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ได้แก่ เพศหญิง ดื่มกาแฟ 2 – 4 แก้ว/วัน ดื่มกาแฟสด ดื่มเมนูคาปูชิโน ดื่มกาแฟ 4 – 7 วัน/สัปดาห์ ดื่มกาแฟเพราะเคยชินกับการดื่มเป็นประจำ ดื่มเพื่อแก้ง่วง คุณภาพการนอนไม่ดี และมีอาการของสุขภาพจิตโรคซึมเศร้า สามารถทำนายภาวะติดกาแฟของพนักงานบริษัทในทิศทางบวก ผลจากการวิจัยนี้จะช่วยชี้ให้เห็นถึงความสำคัญในการดำเนินการของบริษัทหรือฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมคุณภาพทางกายและทางจิตใจให้แก่พนักงานออฟฟิศ เนื่องจากผลลัพธ์จากการส่งเสริมนี้จะยังผลต่อการปฏิบัติหน้าที่และคุณภาพของงานด้วย