Abstract:
ความเป็นมา: ความคิดสร้างสรรค์ในงานศิลปะมีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพจิต แต่จากการศึกษาที่ผ่านมาส่วนใหญ่ไม่ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างลักษณะทางกายภาพของงานศิลปะ สภาวะทางอารมณ์ และภาวะซึมเศร้าในการวิจัยเชิงปริมาณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเนื้อหาภาษาไทย
วัตถุประสงค์: การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ผลจากการประเมินงานศิลปะ เพื่อตรวจสอบความเชื่อมโยงระหว่างสภาวะทางอารมณ์ ความซึมเศร้า และงานศิลปะ ที่สามารถบอกถึงสัญญาณของภาวะซึมเศร้าในลักษณะทางกายภาพของงานศิลปะ
วิธีการศึกษา: เป็นงานวิจัยเชิงพรรณา โดยคัดเลือกนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปะในประเทศไทยจำนวน 89 คน ที่สามารถสร้างสรรค์งานจิตรกรรม โดยใช้แบบสอบถามต่อไปนี้: แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบประเมินภาวะซึมเศร้า(PHQ-9) และงานศิลปะของนักเรียนถูกรวบรวมเป็นไฟล์ดิจิทัลและประเมินโดยใช้แบบวัดงานศิลปะ (RizbA) สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ สถิติเชิงพรรณนา Chi-square, Mann-Whitney U test, Pearson Correlation, multiple regression และใช้การเรียนรู้ด้วยเครื่อง Machine Learning
ผลการศึกษา : การทำนายภาวะซึมเศร้าระหว่างปัจจัยส่วนบุคคลและลักษณะทางศิลปะถือว่ามีประสิทธิภาพในการทำนายภาวะซึมเศร้า (AUC = 0.742) ซึ่งประกอบด้วยการแสดงออกทางศิลปะ 6 ด้าน ได้แก่ การแสดงภาพในรูปแบบกราฟิก การใช้สีที่ไม่สดใส รูปทรงธรรมชาติและเส้นโค้งที่ปรากฏน้อย พื้นที่ว่างที่ไม่ได้ใช้งานในภาพ การจัดวางองค์ประกอบแนวตั้ง และการแสดงออกทางภาพที่ไม่ชัดเจน แม่นยำ
สรุปผลการศึกษา: การทำนายภาวะซึมเศร้าโดยใช้ลักษณะทางกายภาพของงานศิลปะถือว่ามีประสิทธิภาพที่ดี ซึ่งลักษณะทางกายภาพของงานศิลปะจะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาทางสุขภาพจิตต่อไป อย่างไรก็ตามประสิทธิภาพในการทำนายควรพัฒนาโดยการเพิ่มตัวอย่างข้อมูล ในแง่ของหัวข้อที่ใช้ในงานศิลปะ และเพิ่มจำนวนผู้เข้าร่วมการวิจัยในอนาคต