Abstract:
วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาภาวะซึมเศร้า ความผูกพันต่อบทบาท และกลวิธีการเผชิญปัญหาของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเพศหญิงที่มารับการรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอกจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และศึกษาความผูกพันต่อบทบาท กลวิธีการเผชิญปัญหา และปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาวะซึมเศร้าในระดับปานกลางถึงรุนแรงของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเพศหญิงที่มารับการรักษาแผนกผู้ป่วยนอกจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
วิธีการศึกษา : ดำเนินการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเพศหญิงที่มารับการรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอกจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป และได้รับการวินิจฉัยจากจิตแพทย์หรือแพทย์ประจำบ้านแผนกจิตเวชศาสตร์ โดยใช้เกณฑ์การวินิจฉัย DSM-5 ว่าเป็นโรคซึมเศร้าหลัก หรือโรคซึมเศร้าเรื้อรัง หรือโรคซึมเศร้าสองชนิดทับซ้อนกัน จำนวน 152 คน ใช้วิธีการเลือกสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจงหรือแบบตามเกณฑ์ ผู้เข้าร่วมวิจัยต้องตอบแบบสอบถามรวมทั้งหมด 5 ชุด ข้อ ด้วยตนเอง ได้แก่ 1) แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล จำนวน 11 ข้อ 2) แบบประเมินซึมเศร้าฉบับภาษาไทย จำนวน 21 ข้อ 3) แบบวัดความผูกพันต่อบทบาทที่หลากหลาย จำนวน 31 ข้อ 4) แบบวัดการเผชิญปัญหา จำนวน 39 ข้อ 5) แบบประเมินการสนับสนุนทางสังคม จำนวน 16 ข้อ และผู้วิจัยบันทึกแบบกรอกข้อมูลทางการแพทย์ของผู้เข้าร่วมวิจัย จำนวน 4 ข้อ นำเสนอความรุนแรงของภาวะซึมเศร้า ข้อมูลส่วนบุคคล ประวัติการเจ็บป่วยด้วยโรคซึมเศร้า ข้อมูลความผูกพันต่อบทบาทที่หลากหลาย กลวิธีการเผชิญปัญหา การสนับสนุนทางสังคม เป็นค่าสัดส่วน ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าสูงสุด ค่าต่ำสุด และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน หลังจากนั้นทำการวิเคราะห์ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับภาวะซึมเศร้าในระดับปานกลางถึงรุนแรงของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเพศหญิง โดยใช้สถิติทดสอบไคสแควร์ ในกรณีที่ข้อมูลเป็นเชิงลักษณะ และใช้สถิติทดสอบค่าเฉลี่ยในกรณีที่ข้อมูลเป็นเชิงปริมาณ หลังจากนั้นทำการวิเคราะห์หาปัจจัยทำนายภาวะซึมเศร้าในระดับปานกลางถึงรุนแรงของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเพศหญิง โดยอาศัยการวิเคราะห์ความถดถอยโลจิสติก และกำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติไว้ที่น้อยกว่า 0.05
ผลการศึกษา : ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเพศหญิง 37 คน (ร้อยละ 24.3) มีภาวะซึมเศร้าอยู่ในระดับต่ำมาก 20 คน (ร้อยละ 13.2) อยู่ในระดับเล็กน้อย 37 คน (ร้อยละ 24.3) อยู่ในระดับปานกลาง และ 58 คน (ร้อยละ 38.2) อยู่ในระดับรุนแรง คะแนนระดับภาวะซึมเศร้าโดยเฉลี่ยของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเพศหญิงคือ 24.24 ±13.79 คะแนน จากคะแนนเต็ม 63 คะแนน ซึ่งคะแนนอยู่ในภาวะซึมเศร้าระดับปานกลาง ผู้ป่วยเพศหญิงส่วนใหญ่มีความผูกพันในบทบาทผู้ดูแลบิดามารดามากที่สุด (3.83 ± 1.01) กลวิธีการเผชิญปัญหาที่ผู้ป่วยเพศหญิงใช้มากที่สุดคือ การเผชิญปัญหาแบบมุ่งจัดการปัญหา (3.44 ± 0.63) ในระดับมาก (82 คน ร้อยละ 53.9) และได้รับการสนับสนุนทางสังคมในระดับปานกลาง (55.16 ± 13.56) โดยปัจจัยที่มีความเกี่ยวข้องกับภาวะซึมเศร้าในระดับปานกลางถึงรุนแรงของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเพศหญิง ได้แก่ การมีบทบาทผู้ดูแลบิดามารดาในระดับต่ำมากถึงต่ำ การมีบทบาทญาติพี่น้องในระดับต่ำมากถึงต่ำ การเผชิญปัญหาแบบแสวงหาการสนับสนุนทางสังคมในระดับต่ำมากถึงต่ำ การสนับสนุนทางสังคมในด้านอารมณ์ในระดับต่ำ (p<0.05) อายุที่น้อยกว่าหรือเท่ากับ 30 ปี รายได้ที่น้อยกว่าหรือเท่ากับ 20,000 บาท ไม่มีภาระการดูแลสามีถึงระดับค่อนข้างน้อย การใช้กลวิธีการเผชิญปัญหาแบบมุ่งจัดการปัญหาในระดับต่ำมากถึงต่ำแบบหลีกหนีในระดับปานกลางถึงมากที่สุด การได้รับการสนับสนุนทางสังคมทุกด้านในระดับต่ำ และการสนับสนุนทางสังคมด้านข้อมูลข่าวสารในระดับต่ำ (p<0.01) ผลการวิเคราะห์ปัจจัยทำนายภาวะซึมเศร้าในระดับปานกลางถึงรุนแรงของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเพศหญิง ด้วยสถิติการวิเคราะห์ถดถอยโลจิสติกส์ พบปัจจัยทำนาย ได้แก่ อายุที่น้อยกว่าหรือเท่ากับ 30 ปี รายได้ที่น้อยกว่าหรือเท่ากับ 20,000 บาทต่อเดือน ไม่มีภาระการดูแลสามีถึงค่อนข้างน้อย กลวิธีการเผชิญปัญหาแบบมุ่งจัดการปัญหาในระดับต่ำมากถึงต่ำ กลวิธีการเผชิญปัญหาแบบหลีกหนีแบบปานกลางถึงมากที่สุด และการสนับสนุนทางสังคมที่ต่ำ
สรุปผลการศึกษา : คะแนนเฉลี่ยภาวะซึมเศร้าของผู้ป่วยซึมเศร้าเพศหญิงอยู่ในระดับปานกลาง โดยความผูกพันต่อบทบาทต่ำ การเผชิญปัญหาแบบหลีกหนีแทนการเผชิญปัญหาแบบมุ่งจัดการปัญหาและการแสวงหาการสนับสนุนทางสังคม ส่งผลต่อภาวะซึมเศร้าของผู้ป่วยเพศหญิง ซึ่งการส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีบทบาทที่หลากหลาย ใช้กลวิธีการเผชิญปัญหาที่เหมาะสม และเพิ่มแหล่งสนับสนุนทางสังคม อาจช่วยลดอาการซึมเศร้าของผู้ป่วยได้