Abstract:
ความเป็นมา ในปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาเกี่ยวกับอัตราการป่วยด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และปัจจัยที่เกี่ยวข้องในกลุ่มพนักงานบริการทางเพศซึ่งเป็นผู้สัมผัสปัจจัยเสี่ยงในการประกอบอาชีพ
วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความชุก อุบัติการณ์ และปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในกลุ่มพนักงานบริการทางเพศที่มารับบริการคัดกรองโรคที่ศูนย์พัทยารักษ์
วิธีการศึกษา การศึกษาชนิดภาคตัดขวาง (Cross-sectional study) และการศึกษาตามรุ่นย้อนหลัง (Retrospective cohort study) จากเวชระเบียนของศูนย์พัทยารักษ์ตั้งแต่ 1 มกราคม พ.ศ.2559 จนถึง 31 ธันวาคม พ.ศ.2563 กลุ่มตัวอย่างคือผู้ประกอบอาชีพพนักงานบริการทางเพศในเขตเมืองพัทยาที่มาเข้ารับบริการที่ศูนย์พัทยารักษ์ในช่วงเวลา 5 ปีของการติดตาม รวมทั้งหมด 2,588 คน เก็บข้อมูลด้วยแบบบันทึกข้อมูล นำมาวิเคราะห์ทางสถิติเชิงพรรณนาและวิเคราะห์ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง โดยใช้ Poisson regression ด้วยโปรแกรม STATA Version 14.0
ผลการศึกษา พนักงานบริการทางเพศ 2,588 คน มีจำนวนการรับบริการทั้งหมด 21,819 ครั้ง โรคที่มีอัตราความชุกสูงที่สุดในพนักงานหญิงและชายคือโรคหูด (149.97 ครั้ง/1,000 ตัวอย่าง) และเอชไอวี (172.41 ครั้ง/1,000 ตัวอย่าง) ตามลำดับ และโรคที่มีอัตราอุบัติการณ์สูงที่สุดในพนักงานหญิงและชายคือโรคหูด (4.84 ราย/1,000 บุคคล-เดือน) และซิฟิลิส (154.93 ราย/1,000 บุคคล-เดือน) ตามลำดับ เมื่อวิเคราะห์แบบ Adjusted analysis พบว่าปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์บางโรค อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ พฤติกรรมเสี่ยงคือการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ใช้บริการทางเพศโดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย, การมีคู่เพศสัมพันธ์คนใหม่, การมีเพศสัมพันธ์แล้วถุงยางอนามัยแตก รั่ว หลุด
สรุป การส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัยให้เหมาะสมและการให้ความรู้เกี่ยวกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จะสามารถลดขนาดปัญหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์บางโรค (เช่น โรคหนองในแท้ โรคหูด โรคเริม โรคพยาธิช่องคลอด) ในกลุ่มพนักงานบริการทางเพศ