Abstract:
การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาความคงทนของเชื้อไวรัสเอเวียนอินฟลูเอนซาสายพันธุ์ เอช 5 เอ็น 1 ที่แยกไก่จากไก่ในเขตจังหวัดภาคกลาง และภาคตะวันออกของประเทศไทย ระหว่างเดือนมกราคม ถึง กุมภาพันธ์ 2547 ซึ่งเป็นการระบาดครั้งแรก และ เดือนตุลาคม 2547 ซึ่งเป็นการระบาดครั้งที่ 2 ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ วิธีทางกายภาพและความเป็นกรด-ด่าง ด้วยการเก็บตัวอย่าง อวัยวะ ปอด ลำไส้ ท่อลม และตับ จากไก่ป่วยที่สงสัย มาทำการแยกและพิสูจน์เชื้อไวรัสเอเวียนอินฟลูเอนซาสายพันธุ์ เอช 5 เอ็น 1 ด้วยวิธีการฉีดในไข่ไก่ฟักอายุ 11 วัน วิธีการจับกลุ่มตกตะกอนของเม็ดเลือดแดง วิธีการยับยั้งจับกลุ่มตกตะกอนของเม็ดเลือดแดง และวิธีการตรวจหาเชื้อไวรัสโดยวิธีปฏิกิริยาลูกโซ่โพลิเมอเรส หลังจากนั้นทำการเพิ่มจำนวนเชื้อไวรัสด้วยการฉีดในไข่ไก่ฟัก และตรวจหาปริมาณไวรัสในน้ำไข่ไก่ฟัก เก็บน้ำไข่ไก่ฟักนี้ที่ -80 องศาเซลเซียส ( ซ) นำน้ำไข่ไก่ฟักที่มีเชื้อไวรัสมาสกัดอาร์เอ็นเอ (RNA) เพื่อนำไปส่งตรวจการเรียงตัวของนิวคลีโอไทด์ของยีนฮีแมกกลูตินิน (hemagglutinin; HA) และนิวรามินิเดส (neuraminidase; NA) นำมาวิเคราะห์การเรียงตัวของนิวคลีโอไทด์ด้วยโปรแกรมสำเร็จรูป BioEdit version 7.0.5.3 ทำการคัดเลือกเชื้อไวรัสจำนวน 3 เชื้อ มาทดสอบการคงอยู่ของเชื้อไวรัสปริมาณ 1.0 x 10[superscript 8] ELD[subscript 50]/ml ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ กลูตารัลดีไฮด์ ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ ควอเตอร์นารีแอมโมเนียม กลูตารัลดีไฮด์ผสมกับกลุ่มควอเตอร์นารี แอมโมเนียม ไอโอดีน คลอรีน ฟอร์มาลิน และฟีนอล ด้วยอัตราส่วนความเข้มข้นที่แนะนำ ที่อุณหภูมิ 25 และ 37 องศาเซลเซียส ณ วันที่ 0, 5, 7 และ 14 ซึ่งมีระยะเวลาสัมผัสของเชื้อไวรัสและน้ำยาฆ่าเชื้อนาน 10 นาที วิธีทางกายภาพด้วยอุณหภูมิ 55, 60, 65 70 และ 75 องศาเซลเซียส เป็นเวลานาน 10, 15, 30, 45 และ 60 นาที และความเป็นกรด-ด่าง 3, 5, 7 9 และ 12 โดยใช้กรดไฮโดรคลอริกและโซเดียมไฮดรอกไซด์ผสมในสารละลายฟอสเฟตบัฟเฟอร์ ซึ่งมีระยะเวลาสัมผัสของเชื้อไวรัสและสารละลายที่ปรับความเป็นกรด-ด่างนาน 5 และ 10 นาที หลังจากนั้นนำมาฉีดไข่ไก่ฟักอย่างละ 6 ฟอง นำเข้าตู้ฟักไข่ สังเกตและบันทึกการตายของไข่ไก่ฟักเป็นระยะเวลานาน 7 วัน หากพบว่าไข่ไก่ฟักตายทำการเก็บน้ำไข่ไก่ฟักเพื่อแยกและพิสูจน์เชื้อไวรัสดังวิธีการข้างต้น ผลพบว่า สามารถแยกเชื้อไวรัสเอเวียนอินฟลูเอนซาสายพันธุ์ เอช 5 เอ็น 1 จากการระบาดครั้งแรกได้จำนวน 8 เชื้อ และครั้งที่ 2 ได้จำนวน 1 เชื้อ ทั้ง 9 เชื้อ มีจำนวนนิวคลีโอไทด์ และความเหมือนของการเรียงตัวของนิวคลีโอไทด์ของยีน HA และ NA คือ 1638 – 1670 และ 1306 – 1321 และระหว่างร้อยละ 99.32 – 99.88 และ 99.16 – 100 ตามลำดับ คัดเลือกเชื้อไวรัสจำนวน 3 เชื้อคือ 2004.1, CUK-2/04 และ 2004.2 มาทำการศึกษาพบว่า มิความคงทนต่ำหรือไม่มีความคงทนเลยต่อน้ำยาฆ่าเชื้อกลูตารัลดีไฮด์ กลูตารัลดีไฮด์ผสมกับกลุ่มควอเตอนารีแอมโมเนียม คลอรีน และฟีนอล ที่อุณหภูมิ 25 และ 37 องศาเซลเซียส อุณหภูมิ 65 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 60 ที และ/หรืออุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส เป็นเวลาอย่างน้อย 10 นาที และพบว่าเชื้อไวรัสคงทนต่อสภาพความเป็นกรด-ด่าง ต่าง ๆ ในช่วงที่ทำการศึกษา จากการศึกษาครั้งนี้พบว่า CUK-2/04 ค่อนข้างคงทนต่อน้ำยาฆ่าเชื้อ อุณหภูมิ และความเป็นกรด-ด่างมากที่สุด