Abstract:
การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนาแบบภาคตัดขวาง เพื่อศึกษาระดับภาวะเหนื่อยล้าในการทำงานและปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับภาวะเหนื่อยล้าในการทำงานของเจ้าพนักงานและพนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในกรุงเทพมหานคร จำนวน 313 คน สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบชั้นภูมิและสุ่มอย่างง่าย เครื่องมือในการวิจัยคือแบบสอบถามประเมินภาวะความเหนื่อยล้าในการทำงาน และวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนาและสถิติ Multiple logistic regression ผลการวิจัยพบว่ากลุ่มตัวอย่างมีภาวะเหนื่อยล้าในการทำงานด้านความอ่อนล้าทางอารมณ์ ด้านการลดความเป็นบุคคลและด้านการลดความสำเร็จส่วนบุคคลอยู่ในระดับต่ำ(ร้อยละ 75.4, 84.0 และ 48.2 ตามลำดับ) และผู้ที่มีภาวะเหนื่อยล้าในการทำงานระดับสูงคิดเป็นร้อยละ 8.31 ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดภาวะความเหนื่อยล้าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติคือ สถานภาพทางเศรษฐกิจ ที่มีรายได้ไม่พอใช้ (ORadj=2.56; 95%CI:1.01-6.47) การมีความไม่พึงพอใจในสิ่งแวดล้อมในสถานีดับเพลิงที่ทำงาน (ORadj =8.31; 95%CI: 2.02-34.15) การได้รับการสนับสนุนจากเพื่อนร่วมงานที่ไม่เพียงพอ (ORadj =3.38; 95%CI: 1.24-9.24) และการมีความไม่พึงพอใจในงาน (ORadj =9.90; 95%CI: 2.68-36.68) จากการศึกษาพบว่ามีหลายปัจจัยสัมพันธ์กับการเกิดภาวะความเหนื่อยล้า เช่น ความไม่พึงพอใจในสิ่งแวดล้อมในที่ทำงาน การไม่ได้รับการสนับสนุนจากเพื่อนร่วมงาน ซึ่งเป็นปัจจัยที่อาจนำไปใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาเช่น พัฒนาสภาพแวดล้อมการทำงานให้ดีขึ้น เฝ้าระวังทางสุขภาพจิตมากขึ้น เพื่อให้ผู้ทำงานมีสุขภาวะที่ดี ส่งผลดีต่อประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการทำงานต่อไปได้