Abstract:
การศึกษาครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงพรรณา ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาภาวะหมดไฟในการทำงาน และปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับภาวะหมดไฟในการทำงานของพนักงานบริษัทเอกชนที่ดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างแห่งหนึ่ง กลุ่มตัวอย่างจำนวน 331 คน เก็บข้อมูลระหว่างเดือนมกราคม - เมษายน 2565 ด้วยวิธีการส่งแบบสอบถามออนไลน์ เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลในครั้งนี้ ประกอบด้วย แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบสอบถามข้อมูลด้านการทำงาน แบบสอบถามด้านคุณภาพชีวิตขององค์การอนามัยโลกชุดย่อฉบับภาษาไทย แบบสอบถามความรู้สึกหลากหลายมิติเกี่ยวกับความช่วยเหลือทางสังคม และแบบสอบถามด้านภาวะหมดไฟในการทำงานฉบับภาษาไทย วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณา จากนั้นหาความสัมพันธ์โดยใช้สถิติเชิงอนุมาน ได้แก่ Pearson’s Chi-Square และวิเคราะห์หาปัจจัยทำนายโดยใช้สถิติ Logistic regression ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีภาวะหมดไฟด้านความอ่อนล้าทางอารมณ์ในระดับสูง ร้อยละ 46.2 ด้านการเมินเฉยต่องาน ร้อยละ 48.9 และด้านประสิทธิภาพในการทำงาน ร้อยละ 45.9 มีคุณภาพชีวิตในระดับกลางๆ ร้อยละ 75.8 และมีการสนับสนุนทางสังคมในระดับสูง ร้อยละ 61.6 โดยปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับภาวะหมดไฟในการทำงานอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ด้านความอ่อนล้าทางอารมณ์ และการเมินเฉยต่องาน ได้แก่ อายุ สถานภาพสมรส การมีบุตร รายได้เฉลี่ยต่อเดือน สถานภาพทางเศรษฐกิจ การออกกำลังกาย อายุงาน ตำแหน่งงาน การเดินทางมาทำงาน ชั่วโมงทำงานเฉลี่ยต่อวัน และภาระงาน สำหรับประเภทที่อยู่อาศัย ภาระทางครอบครัว จำนวนชั่วโมงการนอนหลับเฉลี่ยต่อวัน และระยะเวลาที่ใช้ในการเดินทางมาทำงานนั้น เป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับภาวะหมดไฟในการทำงานด้านความอ่อนล้าทางอารมณ์ ส่วนปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับภาวะหมดไฟด้านการเมินเฉยต่องานเท่านั้น ได้แก่ ระดับการศึกษา และสวัสดิการที่ได้รับ ปัจจัยด้านคุณภาพชีวิต และการสนับสนุนทางสังคมเป็นปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับภาวะหมดไฟในทุกๆ ด้าน สำหรับตัวแปรที่สามารถทำนายการเกิดภาวะหมดไฟในระดับสูงในด้านความอ่อนล้าทางอารมณ์ และการเมินเฉยต่องาน ได้แก่ อายุงาน 1 - 10 ปี ตำแหน่งงานอยู่ในระดับปฏิบัติการ และระดับบังคับบัญชา ภาระงานในระดับมากเกินไป สำหรับจำนวนชั่วโมงการทำงานที่มากกว่า 8 ชั่วโมง ถือเป็นปัจจัยทำนายในด้านความอ่อนล้าทางอารมณ์ ปัจจัยด้านคุณภาพชีวิตในระดับปานกลาง – ต่ำ เป็นปัจจัยทำนายการเกิดภาวะหมดไฟในระดับสูงของทุกๆ ด้าน ปัจจัยด้านการสนับสนุนทางสังคมในระดับปานกลาง – ต่ำเป็นปัจจัยทำนายในด้านการเมินเฉยต่องาน และด้านประสิทธิภาพในการทำงาน ผลการศึกษาในครั้งนี้สามารถนำไปส่งเสริมสุขภาพจิตของพนักงาน พัฒนาองค์กร ทั้งการให้ความรู้ การจัดกิจกรรมเพื่อป้องกันการเกิดภาวะหมดไฟ และสามารถนำผลการศึกษาไปค้นคว้าวิจัยต่อได้กับหน่วยงานอื่นในองค์กร หรือ ภาคเอกชนต่อได้ในอนาคต