Abstract:
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาความวิตกกังวลเรื่องการนอนหลับ สุขอนามัยการนอน และปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความวิตกกังวลเรื่องการนอนหลับในผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่เข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยนอกจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
วิธีการศึกษา: เก็บข้อมูลกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่เข้ารับการรักษาในแบบผู้ป่วยนอกแผนกจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปและได้รับการวินิจฉัยจากจิตแพทย์หรือแพทย์ประจำบ้านแผนกจิตเวชศาสตร์ โดยใช้เกณฑ์วินิจฉัย DSM IV-TR หรือ DSM-5 ว่าเป็นโรคซึมเศร้าหลัก หรือโรคซึมเศร้าเรื้อรัง หรือโรคซึมเศร้าที่ไม่สามารถระบุได้ จำนวน 144 คน โดยใช้แบบสอบถามรวมทั้งหมด 4 ชุด ได้แก่ แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบสอบถามปัจจัยเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า แบบสอบถามปัจจัยเกี่ยวกับการนอนหลับ แบบประเมินความวิตกกังวลเรื่องการนอนหลับ จากนั้นผู้วิจัยได้บันทึกข้อมูลแบบกรอกข้อมูลทางการแพทย์ ผ่านเวชระเบียนของโรงพยาบาล ได้แก่ น้ำหนัก ส่วนสูง ประเภทของโรคซึมเศร้าที่ได้รับการวินิจฉัย ระยะเวลาที่เข้ารับการรักษา ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และยาต้านเศร้าที่ได้รับ และใช้สถิติเชิงพรรณนา Mann-Whitney U Test Kruskal-Wallis Test และ Spearman’s rank correlation โดยกำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติไว้ที่น้อยกว่า 0.05
ผลการศึกษา: กลุ่มตัวอย่างมีค่าเฉลี่ย(ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน) ของความวิตกกังวลเรื่องการนอนหลับและสุขอนามัยการนอน เท่ากับ 56.95(26.99) และ 34.79(15.39) ตามลำดับ ค่ามัธยฐาน(ค่าพิสัยระหว่างควอไทล์) ของความวิตกกังวลเรื่องการนอนหลับและสุขอนามัยการนอน เท่ากับ 61.00 (33.5-77.8) และ 32.00 (24.0-45.0) ตามลำดับ ปัจจัยที่มีความเกี่ยวข้องกับความวิตกกังวลเรื่องการนอนหลับ ได้แก่ การปฏิบัติสุขอนามัยการนอนหลับที่ไม่ดี (p<0.01) ระยะเวลาเข้าสู่ภาวะหลับที่นานกว่าปกติ (p<0.001) อาการรบกวนขณะหลับ(p<0.001) อาการง่วงหลับระหว่างวัน (p<0.001) ประสิทธิภาพการนอนหลับต่ำ (p<0.001) การคงอยู่ของอาการโรคซึมเศร้า(p<0.001) และปริมาณการนอนหลับที่ได้รับ (p<0.001)
สรุปผลการศึกษา: ความวิตกกังวลเรื่องการนอนหลับในผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีความเกี่ยวข้องกับสุขอนามัยการนอนหลับที่ปฏิบัติ ซึ่งการให้ความรู้ด้านสุขอนามัยการนอนสามารถส่งเสริมคุณภาพการนอนหลับ และผ่อนคลายความวิตกกังวลเรื่องการนอนได้ อันจะส่งผลดีต่อการรักษาโรคซึมเศร้า