Abstract:
ความสำคัญและที่มาของปัญหางานวิจัย : ภาวะ post-embolization syndrome เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยครั้งตามหลังการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งตับระยะ intermediate ด้วยการให้ยาเคมีบำบัดร่วมกับการอุดหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงก้อนมะเร็ง (transarterial chemoembolization; TACE) ยาอินโดเมทาซินชนิดเหน็บทางทวารหนักซึ่งมีศักยภาพในการลดการอักเสบอาจมีบทบาทในการป้องกันการเกิดภาวะ post-embolization syndrome
วัตถุประสงค์ของงานวิจัย: เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของยาอินโดเมทาซินชนิดเหน็บทางทวารหนักในการป้องกันการเกิดภาวะ post-embolization syndrome ในผู้ป่วยโรคมะเร็งตับที่ได้รับการรักษาโดยการทำ TACE
ระเบียบการวิจัย: การศึกษาทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุมในโรงพยาบาลระดับตติยภูมิ ตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 ถึงกุมภาพันธ์ 2565 โดยผู้ป่วยโรคมะเร็งตับระยะ intermediate ที่เข้ารับการรักษาด้วยการทำ TACE และผ่านเกณฑ์การรับเข้าจะถูกแบ่งชั้นภูมิ (stratification) ตามขนาดก้อนมะเร็งที่ใหญ่ที่สุด หลังจากนั้นจะได้รับการสุ่ม (randomization) เข้าสู่กลุ่มทดลอง และกลุ่มยาหลอก ผู้ป่วยจะได้รับยา indomethacin 100 มิลลิกรัม หรือยาหลอกเหน็บทางทวารหนักครั้งแรก 2-4 ชั่วโมงก่อนการทำ TACE และครั้งที่ 2 6-8 ชั่วโมงหลังทำ TACE โดยมีผลลัพธ์งานวิจัยหลักคืออัตราการเกิดภาวะ post-embolization syndrome ตามนิยามของ Southwest Oncology Group Coding (SWOG) และผลลัพธ์รองคือการเปลี่ยนแปลงของระดับเอนไซม์ตับและระดับสารสื่อการอักเสบในเลือด (serum cytokines) และจำนวนวันนอนโรงพยาบาล
ผลการวิจัย: สืบเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้จำนวนผู้ป่วยที่เข้าร่วมงานวิจัยไม่เป็นไปตามขนาดตัวอย่างที่ได้คำนวนไว้ อย่างไรก็ตามมีผู้ป่วยโรคมะเร็งตับจำนวน 40 รายเข้าร่วมงานวิจัย ผู้ป่วย 19 รายได้รับยาอินโดเมทาซินเหน็บทางทวารหนักและ 21 รายได้รับยาหลอก ผลการวิจัยพบว่าอุบัติการณ์การเกิดภาวะ post-embolization syndrome ในกลุ่มที่ได้รับยาอินโดเมทาซินต่ำกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอก (ร้อยละ 57.9 เทียบกับร้อยละ 71.2, p=0.18) นอกจากนั้นผู้ป่วยในกลุ่มยาอินโดเมทาซินยังมีคะแนน SWOG ในแง่ความเจ็บปวดต่ำกว่าผู้ป่วยในกลุ่มยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญ (0.37 เทียบกับ 1.05, p=0.004) รวมทั้งมีอัตราส่วนร้อยละที่เพิ่มขึ้นของระดับ IL-6 ต่ำกว่ากลุ่มที่ได้ยาหลอก (ร้อยละ 30.2 เทียบกับร้อยละ 125.9, p=0.06) ผลการวิจัยไม่พบความแตกต่างของจำนวนวันนอนโรงพยาบาลในผู้ป่วยทั้งสองกลุ่ม รวมทั้งจากการวิเคราะห์ไม่พบปัจจัยที่สัมพันธ์ต่อการเกิดภาวะ post-embolization syndrome เมื่อพิจารณาอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มพบว่าไม่มีความแตกต่างกัน
สรุป: การใช้ยาอินโดเมทาซินชนิดเหน็บทางทวารหนักอาจสามารถป้องกันการเกิดภาวะ post-embolization syndrome ในผู้ป่วยมะเร็งตับระยะ intermediate ที่ได้รับการรักษาโดยการทำTACE ได้ ทั้งนี้จำเป็นต้องทำการศึกษาที่มีจำนวนอาสาสมัครมากขึ้นต่อไป