Abstract:
ความเป็นมา ผู้ป่วยที่สงสัยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดชนิดที่ 2 ซึ่งเกิดจากความไม่สมดุลของปริมาณออกซิเจนที่หัวใจต้องการกับปริมาณออกซิเจนที่ได้รับ เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในเวชปฏิบัติ อย่างไรก็ตามความชุกของการตีบอย่างมีนัยสำคัญของหลอดเลือดหัวใจจากการฉีดสีหลอดเลือดหัวใจในผู้ป่วยกลุ่มนี้ในประเทศไทยยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด วัตถุประสงค์ของการศึกษานี้ต้องการศึกษาความชุกของการตีบอย่างมีนัยสำคัญของหลอดเลือดหัวใจในผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยเบื้องต้นว่าเป็นกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดชนิดที่ 2 ที่ได้รับการฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ
วิธีการวิจัย การวิจัยนี้เป็นการศึกษาเก็บข้อมูลแบบย้อนหลัง ศึกษาผู้ป่วยที่นอนโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ตั้งแต่ 2558 ถึง 2564 ด้วยสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่สาเหตุจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน และระหว่างนอนโรงพยาบาลได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดชนิดที่ 2 โดยการวินิจฉัยเป็นไปตามคำนิยามการวินิจฉัยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดสากลครั้งที่ 4 (The 4th universal definition) และผู้ป่วยได้รับการฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ โดยการตีบของหลอดเลือดหัวใจอย่างมีนัยสำคัญ คือ หลอดเลือดหัวใจมีการตีบมากกว่าหรือเท่ากับ 50 เปอร์เซ็นต์ของเส้นผ่านศูนย์กลาง จากการฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ ข้อมูลพื้นฐาน ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการและผลการติดตามผู้ป่วยเป็นระยะเวลา 6 เดือนได้จากเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ การวิเคราะห์ปัจจัยที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตีบของหลอดเลือดหัวใจอย่างมีนัยสำคัญ ใช้สถิติการวิเคราะห์ข้อมูลแบบตัวแปรเดียวและการวิเคราะห์พหุตัวแปรผลการวิจัย ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยเบื้องต้นว่าเป็นกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดชนิดที่ 2 จำนวน 97 รายที่ได้รับการฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ พบว่า 64 ราย (65.98%) มีการตีบของหลอดเลือดหัวใจอย่างมีนัยสำคัญ จากผลการวิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อการตีบอย่างมีนัยสำคัญของหลอดเลือดหัวใจ ได้แก่ โรคเบาหวาน, ความดันโลหิตสูง, การเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจในลักษณะ ST depression และการตรวจพบกล้ามเนื้อหัวใจขยับตัวน้อยในบางส่วนจากการตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ (RWMAs) โดยเพิ่มความเสี่ยง 6.14 เท่า [aOR : 6.14 (95%CI : 1.87-20.15, p <0.001, 3.43 เท่า [aOR : 3.43 (95%CI : 1.03-11.45, p =0.04), 3.51 เท่า [aOR : 3.51 (95%CI : 1.11-11.09, p =0.03) และ 5.36 เท่า [aOR : 5.36 (95%CI : 1.28-22.41, p =0.03) ตามลำดับ อย่างไรก็ตามไม่พบความแตกต่างของอัตราตายจากทุกสาเหตุ, อัตราตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือด และการนอนโรงพยาบาลจากโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้ป่วยทั้งกลุ่มที่ตรวจพบ และไม่พบการตีบอย่างมีนัยสำคัญของหลอดเลือดหัวใจ เมื่อติดตามผู้ป่วยเป็นระยะเวลา 6 เดือน
สรุปผลการวิจัย เกินกว่าครึ่งของผู้ป่วยที่เบื้องต้นที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดชนิดที่ 2 ที่ได้รับการฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ พบว่ามีการตีบอย่างมีนัยสำคัญของหลอดเลือดหัวใจ นำไปสู่การรักษาด้วยยาต้านเกล็ดเลือด ยาลดไขมัน และการทำหัตถการเพื่อแก้ไขหลอดหลอดหัวใจที่ตีบ โดยปัจจัยที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตีบอย่างมีนัยสำคัญของหลอดเลือดหัวใจในผู้ป่วยที่มีภาวะนี้ได้แก่ ผู้ป่วยเบาหวาน, ความดันโลหิตสูง ตรวจพบการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจในลักษณะ ST depression และการตรวจพบกล้ามเนื้อหัวใจขยับตัวน้อยในบางส่วนจากการตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ (RWMAs) ทำให้แพทย์ผู้ดูแลตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลผู้ป่วยภาวะนี้ และเลือกผู้ป่วยที่น่าสงสัยว่าจะมีการตีบอย่างมีนัยสำคัญของหลอดเลือดหัวใจไปรับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมต่อไป