Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการสังเคราะห์ซีโอไลต์จากเถ้าลอยถ่านหินและเถ้าลอยชานอ้อยด้วยสารละลายด่างที่ผ่านการใช้แล้วจากโรงงานอุตสาหกรรมรมดำโลหะ (spent alkaline) เปรียบเทียบกับซีโอไลต์ที่กระตุ้นด้วยสารละลายโซเดียมไฮดรอกไซด์ โดยได้ทำการศึกษาสภาวะที่เหมาะสมในการสังเคราะห์ซีโอไลต์ โดยตรวจสอบความสามารถในการแลกเปลี่ยนแคลเซียมไอออนของซีโอไลต์ที่สังเคราะห์ได้ จากผลการทดลองพบว่าสภาวะที่เหมาะสมสำหรับการสังเคราะห์ซีโอไลต์จากเถ้าลอยถ่านหินและเถ้าลอยชานอ้อย คืออุณหภูมิในการทำปฏิกิริยา 90 องศาเซลเซียส ความเข้มข้นของสารละลาย spent alkaline 2 โมลาร์และระยะเวลาในการทำปฏิกิริยา 5 วัน ซึ่งให้ค่าความสามารถในการแลกเปลี่ยนแคลเซียมไอออนเท่ากับ 418.36 cmol/kg และ 286.29 cmol/kg ตามลำดับ การศึกษาครั้งนี้นำ ซีโอไลต์สังเคราะห์ไปทดสอบความสามารถในการกำจัดตะกั่วแบบไม่ต่อเนื่อง เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการกำจัดตะกั่วในน้ำเสียสังเคราะห์ ได้แก่ พีเอช ความเข้มข้นของโลหะหนัก และปริมาณซีโอไลต์ เพื่อทดสอบไอโซเทอมการดูดติดผิวตะกั่ว พบว่า ที่พีเอช 5 และความเข้มข้น 10 มิลลิกรัมต่อลิตรมีเปอร์เซ็นต์การกำจัดตะกั่วดีที่สุด ซึ่งผลการทดลองไอโซเทอมการดูดติดผิวตะกั่วที่สภาวะดังกล่าว เป็นสมการดูดติดผิวแบบแลงมัวร์ ซึ่งพบว่าซีโอไลต์ที่สังเคราะห์จากเถ้าลอยถ่านหินและเถ้าลอยชานอ้อยที่กระตุ้นด้วยสารละลาย Spent alkaline มีค่าความสามารถในการดูดติดผิวตะกั่วสูงสุดเท่ากับ 78.31 และ 65.23 มิลลิกรัมต่อกรัมซีโอไลต์ ตามลำดับ ซีโอไลต์ที่สังเคราะห์จากเถ้าลอยถ่านหินและจากเถ้าลอยชานอ้อยที่กระตุ้นด้วยสารละลาย Spent alkaline มีความสามารถในการกำจัดตะกั่วในน้ำเสียจากโรงงานหลอมตะกั่วจากแบตเตอรี่เก่าได้เท่ากับร้อยละ 92.86 และ 89.56 ตามลำดับ ดังนั้นสารละลายด่างเก่า สามารถนำมาใช้ทดแทนสารละลายโซเดียมไฮดรอกไซด์ที่ใช้ในการเตรียมซีโอไลต์ได้