Abstract:
บทนำ ผู้ป่วยภาวะหายใจอุดกั้นขณะนอนหลับที่ได้รับการรักษาด้วยเครื่องอัดอากาศแรงดันบวกอย่างต่อเนื่องที่มีเวลาการใช้เครื่องอย่างเหมาะสมแล้วปริมาณมากยังมีอาการง่วงนอนมากผิดปกติในเวลากลางวันซึ่งนำไปสู่การลดลงของคุณภาพชีวิต ยาอาร์โมดาฟินิลซึ่งเป็นยากระตุ้นการตื่นตัวนั้นได้รับอนุญาตให้นำมาใช้ในผู้ป่วยภาวะหายใจอุดกั้นขณะนอนหลับที่รับการรักษาด้วยเครื่องอัดอากาศแรงดันบวกอย่างเหมาะสมแต่ยังมีภาวะง่วงนอนมากผิดปกติในเวลากลางวัน ในปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาประสิทธิภาพของการเริ่มใช้ยาอาร์โมดาฟินิลตั้งแต่ระยะเริ่มต้นในกลุ่มผู้ป่วยภาวะหายใจอุดกั้นขณะนอนหลับที่รับการรักษาด้วยเครื่องอัดอากาศแรงดันบวกอย่างต่อเนื่องเกือบเหมาะสม ที่มีภาวะง่วงนอนมากผิดปกติในเวลากลางวัน
ระเบียบวิธีการวิจัย การศึกษาจากเหตุไปผลแบบไปข้างหน้าระยะเวลา 12 สัปดาห์ ในผู้ป่วยภาวะหายใจอุดกั้นขณะหลับที่ได้รับการรักษาด้วยเครื่องอัดอากาศแรงดันบวกอย่างต่อเนื่องเกือบเหมาะสม จำนวน 30 คน อาสาสมัครวิจัยที่เข้าเกณฑ์การวิจัยจะได้รับประทานยาอาร์โมดาฟินิล ขนาด 150 มิลลิกรัม ต่อเนื่องวันละ 1 ครั้งตอนเช้า โดยอาสาสมัครยังคงใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวกต่อเนื่องเช่นเดิม ผู้วิจัยจะทำการเก็บรวบรวมข้อมูลประสิทธิภาพก่อนและหลังรับประทานยาอาร์โมดาฟิลนิล ได้แก่ แบบทดสอบระดับความง่วงนอนเอ็บเวิร์ด คะแนนแบบสอบถาม Clinical Global Impression (CGI) การทดสอบดัชนีออสเลอร์ (Osler error index) แบบประเมินคุณภาพการนอนหลับของพิตส์เบิร์ก (PSQI) แบบบันทึกคุณภาพการนอนหลับ และรายงานผลข้างเคียงตลอดการเข้ารับงานวิจัย
ผลการศึกษา อาสาสมัครจำนวน 17 คน จาก 30 คน รับประทานยาครบ 12 สัปดาห์ พบว่าค่าแบบทดสอบระดับความง่วงนอนเอ็บเวิร์ดลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติจากการเปรียบเทียบที่ 12 สัปดาห์หลังรับประทานยา จากค่าเริ่มต้น 13±2.72 เหลือ 5+3.50 คะแนน (p <0.001) ค่าคะแนนแบบสอบถาม Clinical Global Impression (CGI) ให้คะแนนโดยผู้วิจัยและผู้เข้าร่วมวิจัย ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ จากค่าเริ่มต้น 3.73±0.70 เหลือ 1.57±0.51 (p value < 0.001) และ 3.35±0.61 เหลือ 1.78±0.69 (p value < 0.001) ตามลำดับ ค่าคะแนนแบบประเมินคุณภาพการนอนหลับของพิตส์เบิร์ก (PSQI) พบว่าลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ จากค่าตั้งต้น 9.76±3.78 เหลือ 5.35±3.49 (p value < 0.001) จากการศึกษาไม่พบราบงานการเกิดผลข้างเคียงรุนแรง ซึ่งอาการทั้งหมดหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์หลังเริ่มรับประทานยา
บทสรุป ผู้ป่วยที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นระดับปานกลางถึงมากที่ได้รับการรักษาด้วยเครื่องอัดอากาศแรงดันบวกชนิดต่อเนื่องที่มีเวลาการใช้เครื่องเกือบเหมาะสมและยังมีภาวะง่วงนอนมากผิดปกติในเวลากลางวัน สามารถรับประทานยาอาร์โมดาฟินิลนาน 12 สัปดาห์ต่อเนื่องได้ดีและมีผลข้างเคียงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และผลข้างเคียงทั้งหมดสามารถหายได้เอง ยาอาร์โมดาฟินิลช่วยลดอาการง่วงนอนมากผิดปกติในเวลากลางวัน ประเมินผลจากการลดลงค่าคะแนนแบบทดสอบระดับความง่วงนอนเอ็บเวิร์ดและการลดลงของคะแนนแบบสอบถาม Clinical Global Impression (CGI) และเพิ่มคุณภาพการนอนหลับจากคะแนนแบบประเมินคุณภาพการนอนหลับพิตส์เบิร์ก (PSQI) ที่ลดลง