Abstract:
ที่มา: ภาวะหัวใจห้องบนเต้นระริกเป็นภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่พบบ่อยในเวชปฏิบัติ ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะหลอดเลือดสมองทั่วโลก ยาต้านการแข็งตัวของเลือดเป็นยาที่ถูกแนะนำให้ใช้เพื่อป้องกันภาวะหลอดเลือดสมองในผู้ป่วยภาวะหัวใจต้องบนเต้นระริก แม้ว่าผู้เชี่ยวชาญและข้อแนะนำส่วนใหญ่แนะนำให้เลือกใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดกลุ่มไม่ได้ออกฤทธิ์ต้านวิตามินเคเป็นยาที่ใช้ลำดับแรกและมีประสิทธิภาพในการป้องกันภาวะหลอดเลือดสมองเหนือว่ายาต้านการแข็งตัวของเลือดกลุ่มออกฤทธิ์ต้านวิตามินเคหรือยาวาร์ฟาริน แต่ในทางปฏิบัติในประเทศไทย ยาวาร์ฟารินก็ยังเป็นที่ถูกเลือกนำมาใช้เป็นลำดับแรกเพื่อป้องกันภาวะหลอดเลือดสมองเนื่องจากราคาถูกและมีใช้อย่างแพร่หลายในทุกโรงพยาบาล ทีทีอาร์ถือเป็นตัวชี้วัดมาตรฐานสำหรับการประเมินประสิทธิภาพใช้ในการใช้ยาวาร์ฟารินในอยู่ในช่วงระดับของการรักษา อย่างไรก็ตามในประเทศไทยยังไม่มีการนำทีทีอาร์มาเป็นเครื่องมือที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย
จุดประสงค์: เพื่อวิเคราะห์การปรับปรุงของทีทีอาร์ หลังใช้แนวทางการปรับยาวาร์ฟารินโดยการใช้ทีทีอาร์และไอเอ็นอาร์ เป็นตัวช่วยในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจห้องบนเต้นระริกที่รักษาด้วยยาต้านการแข็งตัวของเลือดกลุ่มออกฤทธิ์ต้านวิตามินเค และศึกษาความสะดวกในการใช้งานแนวทางการปรับยาวาร์ฟารินโดยการใช้ทีทีอาร์และไอเอ็นอาร์เป็นตัวช่วย
ระเบียบวิธีวิจัย: การวิจัยนี้เป็นการศึกษาแบบไปข้างหน้า ศึกษาผู้ป่วยภาวะหัวใจต้องบนเต้นระริกที่รักษาและติดตามที่คลินิกวาร์ฟาริน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2565 โดยจะทำการเก็บข้อมูลทั่วไป, โรคประจำตัว, ประเมินความเสี่ยงต่อภาวะหลอดเลือดสมองและภาวะเลือดออก การรักษาที่ได้รับ และผลลัพธ์ที่ต้องการ คือ การเปลี่ยนแปลงของทีทีอาร์, การเสียชีวิต การนอนโรงพยาบาล อุบัติการณ์การเกิดภาวะหลอดเลือดสมองและเลือดออก รวมทั้งเจาะเลือดเพื่อวัดค่าทีทีอาร์ โดยทำการวัด 2 ครั้ง (ครั้งแรกที่ 6 เดือนหลังการใช้แนวทางการปรับยาฯ และครั้งที่ 2 คือ 1 ปีหลังการใช้แนวทางฯ สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูลใช้ McNemar’s Chi-square test และ paired t-test เพื่อหาความสัมพันธ์ดังกล่าว
ผลการศึกษา: ผลการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า คัดกรองอาสาสมัครทั้งหมด 95 คน (อาสาสมัครที่ตรงเกณฑ์และคุณสมบัติในการคัดเลือกเข้าในงานวิจัยทั้งหมด 74 คน และอาสาสมัคร 18 คน ขาดความสมบูรณ์ของข้อมูล) อายุเฉลี่ยของอาสาสมัครเท่ากับ 72 ± 11 ปี ร้อยละ 50 เป็นเพศหญิง มีผู้ป่วยร้อยละ 32.14 มีโรคประจำตัวเป็นกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ผู้ป่วยร้อยละ 21.43 มีเคยมีประวัติหลอดเลือดสมองตีบมาก่อน และผู้ป่วยร้อยละ 35.7 เป็นเบาหวาน ค่าคะแนนประเมินความเสี่ยง CHA2DS2-VASc เฉลี่ย 3.82 ± 1.82 HAS-BLED เฉลี่ย 2.13 ± 1.01 และ SAMe-TT2R2 เฉลี่ย 3.30 ± 0.74 จากผลการวิจัยพบว่า ค่าเฉลี่ยของทีทีอาร์ตั้งต้นก่อนใช้แนวทางการปรับยาฯ เท่ากับร้อยละ 61.92 ± 21.65 (ร้อยละ 59 ของอาสาสมัครมีค่าทีทีอาร์น้อยกว่าร้อยละ 65) หลังจากใช้แนวทางการปรับยาฯ ที่ 6 เดือน พบว่า ค่าทีทีอาร์ของอาสาสมัครเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 77.96 ± 19.36 (p<0.001) (คิดสัดส่วนของอาสาสมัครที่มีทีทีอาร์มากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 65 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 41 เป็นร้อยละ 78 (p<0.001)) พบอาสาสมัครเพียง 1 คนเสียชีวิตขณะติดตามอาการด้วยภาวะตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันรุนแรง และไม่มีอาสาสมัครคนใดเกิดอุบัติการณ์ของภาวะหลอดเลือดสมองหรือภาวะเลือดออกรุนแรงในช่วง 6 เดือนแรก
สรุป: การศึกษาพบว่า ยาวาร์ฟารินยังคงเป็นยาที่ใช้กันอย่างแพร่หลายเพื่อป้องกันภาวะหลอดเลือดเสมองในผู้ป่วยภาวะหัวใจห้องบนเต้นระริก พบว่าค่าทีทีอาร์ของอาสาสมัครเพิ่มขึ้นหลังจากมีการใช้แนวทางการปรับยาฯ 6 เดือนแรก ดังนั้นการใช้แนวทางการปรับยาวาร์ฟารินโดยมีทีทีอาร์และไอเอ็นอาร์เป็นตัวช่วยหนึ่งในการปรับปรุงทีทีอาร์ของผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจห้องบนเต้นระริกที่รักษาด้วยยาต้านการแข็งตัวของเลือดกลุ่มออกฤทธิ์ต้านวิตามินเค