Abstract:
ที่มา: กลุ่มอาการบรูกาดาวินิจฉัยโดยอาศัยคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่มีลักษณะ coved-type ST-segment elevation บริเวณ right precordial ซึ่งอาจเกิดขึ้นเองหรือหลังได้รับยากระตุ้น ผู้ป่วยกลุ่มอาการบรูกาดามีรูปแบบของคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่เปลี่ยนแปลงได้ไม่คงที่ จึงมีการทดสอบโดยใช้ยากระตุ้นเพื่อวินิจฉัยกลุ่มอาการดังกล่าว พบว่าการกระตุ้นด้วยยาแอชมาลีน (Ajmaline challenge test) ได้ผลที่ดีกว่ายา flecainide และ procainamide ในการวินิจฉัยกลุ่มอาการบรูกาดา แต่เนื่องจากยามีราคาแพง ทำให้การวินิจฉัยและการประเมินความชุกที่แท้จริงของผู้ป่วยกลุ่มอาการบรูกาดาในประเทศไทยมีข้อจำกัด ร่วมกับการศึกษาก่อนหน้านี้พบว่าค่าของ T-peak to T-end จากคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ยาวสัมพันธ์กับการเกิดภาวะหัวใจห้องล่างเต้นผิดจังหวะรุนแรงในผู้ป่วยโรคใหลตาย
จุดประสงค์: เพื่อศึกษาค่าของ T-peak to T-end และค่าของ corrected T-peak to T-end จากการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจในการพยากรณ์ผลบวกจากการทดสอบด้วยการใช้ยากระตุ้นแอชมาลีนในผู้ป่วยที่สงสัยว่าเป็นกลุ่มอาการบรูกาดา เพื่อนำไปสู่แนวทางการคัดเลือกผู้ป่วยและแนวทางการวินิจฉัยกลุ่มอาการบรูกาดาที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย
ระเบียบวิจัย: เป็นงานวิจัยเชิงวิเคราะห์ในผู้ป่วยที่มีอายุอย่างน้อย 18 ปี ที่มีประวัติคนในครอบครัวได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นกลุ่มอาการบรูกาดา หรือมีอาการหมดสติโดยไม่ทราบสาเหตุ (unexplained syncope) หรือมีภาวะหัวใจหยุดเต้นกระทันหัน (resuscitated sudden cardiac arrest) ร่วมกับมีลักษณะคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่สงสัยกลุ่มอาการบรูกาดา โดยเข้ารับการทดสอบด้วยยากระตุ้นแอชมาลีนในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561-2564 ทำการศึกษาข้อมูลอันได้แก่ ลักษณะทางคลินิก ค่าของ T-peak to T-end ค่าของ corrected T-peak to T-end ค่าของ QT ค่าของ corrected QT และค่าของ S wave duration โดยนำค่าต่าง ๆ มาประเมินกับผลจากการทดสอบโดยการใช้ยากระตุ้นแอชมาลีน
ผลการศึกษา: พบว่ามีผู้ป่วย 16 ราย (เป็นเพศชายร้อยละ 93.7 อายุเฉลี่ย 40±15 ปี) เข้ารับการทดสอบโดยใช้ยากระตุ้นแอชมาลีนด้วยข้อบ่งชี้มีประวัติคนในครอบครัวได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นกลุ่มอาการบรูกาดาร้อยละ 37.5 มีอาการหมดสติโดยไม่ทราบสาเหตุร้อยละ 43.8 และมีภาวะหัวใจหยุดเต้นกะทันหันร้อยละ 18.8 โดยผลการทดสอบโดยการใช้ยากระตุ้นแอชมาลีนเป็นบวก 12 ราย (คิดเป็นร้อยละ 75) การศึกษานี้พบว่าค่าของ T-peak to T-end และค่าของ corrected T-peak to T-end ในผู้ป่วยที่สงสัยว่าเป็นกลุ่มอาการบรูกาดาไม่สัมพันธ์กับผลบวกจากการทดสอบโดยการใช้ยากระตุ้นแอชมา- ลีนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (TpTe: II Neg 96.2±8.7 ms vs. Pos 119.2±28.6 ms, p=0.133, V2 Neg 127.2±29.0 ms vs. Pos 112.1±19.0 ms, p=0.243, cTpTe: II Neg 102.5±16.0 ms vs. Pos 124.2±36.7 ms, p=0.379, V2 Neg 135.0±34.0 ms vs. Pos 116.2±24.0 ms, p=0.239) นอกจากนี้พบว่าค่าของ QT ค่าของ corrected QT และค่าของ S wave duration ในผู้ป่วยที่สงสัยว่าเป็นกลุ่มอาการบรูกาดาไม่สัมพันธ์กับผลบวกจากการทดสอบโดยการใช้ยากระตุ้นแอชมาลีนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (QT: Neg 412.2±35.0 ms vs. Pos 401.8±28.2 ms, p=0.554, QTc: Neg 436.2±33.0 ms vs. Pos 408.8±26.3 ms, p=0.110, S: II Neg 41.5±16.8 ms vs. Pos 42.0±14.1 ms, p=0.954, V2 Neg 43.2±13.5 ms vs. Pos 55.6±0.9 ms, p=0.293). การศึกษานี้ไม่พบผลข้างเคียงจากการใช้ยากระตุ้นแอชมาลีน
สรุป: การศึกษานี้พบว่าค่า T-peak to T-end และค่า Corrected T-peak to T-end จากคลื่นไฟฟ้าหัวใจในผู้ป่วยที่สงสัยว่าเป็นกลุ่มอาการบรูกาดา ไม่มีความสัมพันธ์กับผลบวกจากการทดสอบโดยการใช้ยากระตุ้นแอชมาลีน