Abstract:
วัตถุประสงค์: เปรียบเทียบความสามารถในการตรวจจับโรคมะเร็งตับของคลื่นสะท้อนในสนามแม่เหล็กที่ไม่มีสารทึบรังสีเทียบกับอัลตราซาวด์ ในผู้ป่วยโรคตับแข็งที่ได้รับการตรวจคัดกรองเฝ้าระวังโรคมะเร็งตับ
วิธีการศึกษา: ศึกษาข้อมูลของผู้ป่วยโรคตับแข็งในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ที่ได้รับการตรวจคัดกรองเฝ้าระวังโรคมะเร็งตับด้วยอัลตราซาวด์แล้วพบว่ามีความผิดปกติ จำนวน 465 ราย ซึ่งได้รับการตรวจคลื่นสะท้อนในสนามแม่เหล็กที่มีสารทึบรังสี โดยรังสีแพทย์ 2 ท่านแปลผลภาพถ่ายรังสีคลื่นสะท้อนในสนามแม่เหล็กที่ไม่มีสารทึบรังสี ซึ่งประกอบด้วย T1-weighted, T2-weighted และ diffusion-weighted imaging (DWI) วินิจฉัยโรคมะเร็งตับจากการตรวจคลื่นสะท้อนในสนามแม่เหล็กที่มีสารทึบรังสีและหรือพยาธิวิทยาของก้อนมะเร็งตับ ศึกษาความไว ความจำเพาะ ค่าการคาดหมายที่เป็นบวกและลบ ความแม่นยำของการตรวจคลื่นสะท้อนในสนามแม่เหล็กที่ไม่มีสารทึบรังสีและอัลตราซาวด์
ผลการศึกษา: ในผู้ป่วยโรคตับแข็งทั้งสิ้น 465 ราย พบก้อนมะเร็งตับจำนวน 217 ก้อน ในผู้ป่วย 138 ราย พบว่าคลื่นสะท้อนในสนามแม่เหล็กที่ไม่มีสารทึบรังสีมีความไวน้อยกว่าอัลตราซาวด์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยความไวต่อผู้ป่วยของคลื่นสะท้อนในสนามแม่เหล็กที่ไม่มีสารทึบรังสีและอัลตราซาวด์ คือ 68.8% และ 81.1%, p=0.02 ตามลำดับ และความไวต่อรอยโรคของคลื่นสะท้อนในสนามแม่เหล็กที่ไม่มีสารทึบรังสีและอัลตราซาวด์ คือ 49.7% และ 41.4%, p=0.1 ตามลำดับ คลื่นสะท้อนในสนามแม่เหล็กที่ไม่มีสารทึบรังสีมีความจำเพาะต่อผู้ป่วยและต่อรอยโรคมากกว่าอัลตราซาวด์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โคยความจำเพาะต่อผู้ป่วยของคลื่นสะท้อนในสนามแม่เหล็กที่ไม่มีสารทึบรังสีและอัลตราซาวด์ คือ 92.9% และ 62%, p<0.05 ตามลำดับ และความจำเพาะต่อรอยโรคของคลื่นสะท้อนในสนามแม่เหล็กที่ไม่มีสารทึบรังสีและอัลตราซาวด์ คือ 94.6% และ 75.4%, p<0.05 ตามลำดับ
สรุป: คลื่นสะท้อนในสนามแม่เหล็กที่ไม่มีสารทึบรังสีมีความจำเพาะมากกว่าอัลตราซาวด์ ในการตรวจจับโรคมะเร็งตับในผู้ป่วยโรคตับแข็ง สามารถนำมาใช้ในตรวจคัดกรองเฝ้าระวังโรคมะเร็งตับในผู้ป่วยโรคตับแข็งได้