Abstract:
ได้ศึกษารีเทนชันแฟคเตอร์ รีเทนชันอินเดก และประสิทธิภาพของการแยกของสารประกอบประเภทอนุกรมโฮโมโลกัส ได้แก่ อัลคิลเบนซีน (BZ) อัลคิลลอริลคีโทน (PN) อัลคิลเบนโซเอท (BA) และอัลคิลพาราเบน (PB) ในเทคนิคไมโครอิมัลชันอิเล็กโทรไคเนทิกโครมาโทกราฟี (MEEKC) ในภาวะที่กำจัดอิเล็กโทรออสโมซิส ที่ความเข้มข้นของโซเดียมโดเดกซิลซัลเฟต ([SDS]) อุณหภูมิและศักย์ไฟฟ้าต่างๆ บัฟเฟอร์ของ MEEKC ที่ใช้ประกอบด้วยฟอสเฟตบัฟเฟอร์ที่ pH 2.5, นอร์มัลออกเทน 1.0% โดยปริมาตรเป็นหยดน้ำมัน, SDS 100 ถึง 200 มิลลิโมลาร์เป็นสารลดแรงตึงผิว และ 1-บิวทานอล 890 มิลลิโมลาร์เป็นสารลดแรงตึงผิวร่วม พบว่าค่ารีเทนชันอินเดกไม่ขึ้นกับ [SDS] อุณหภูมิและศักย์ไฟฟ้าในการแยกสาร ในขณะที่ k มีค่าเพิ่มขึ้นเชิงเส้นตรงกับการเพิ่ม [SDS] แต่จะมีค่าลดลงเชิงเส้นตรงเมื่อเพิ่มอุณหภูมิหรือศักย์ไฟฟ้าสำหรับค่าประสิทธิภาพของการแยกสารจะมีค่าเพิ่มขึ้นเมื่อเพิ่ม [SDS] แต่จะลดลงเมื่อเพิ่มอุณหภูมิหรือศักย์ไฟฟ้า นอกจากนี้เมื่อให้ [SDS], อุณหภูมิและศักย์ไฟฟ้าคงที่ พบว่าค่า N ของสารประกอบประเภทอนุกรมโฮโมโลกัสเดียวกันมีค่าไม่แตกต่างกันมากนัก แต่จะมีค่าแตกต่างกันสำหรับสารประกอบประเภทอนุกรมโฮโมโลกัสต่างกัน ที่ [SDS] อุณหภูมิและศักย์ไฟฟ้าใดๆ ได้ความสัมพันธ์ที่เป็นเส้นตรงระหว่างค่า log k กับจำนวนคาร์บอนของสาร (z) ได้ปรับปรุงสมการของ log k เป็นฟังก์ชั่นกับ [SDS] และ z เพื่อทำนายค่า log k ของสารประกอบประเภทอนุกรมโฮโมโลกัส พบว่าที่ [SDS].ใดๆ ค่า log k ของสารที่ได้จากการทดลองและการทำนายมีความสอดคล้องกันมาก เมื่อใช้ BZ เป็นสารมาตรฐาน ได้กราฟสอบเทียบเชิงเส้นตรงระหว่างค่า log K[subscript ow] กับ log k หรือค่า log K[subscript ow] กับ I ที่ [SDS] ต่างๆ และสามารถทำนายค่า log K[subscript ow] ของ PN, BA และ PB ได้จากค่า log k หรือ I โดยที่ K[subscript ow] คือ ค่าคงที่ของการกระจายตัวของสารในนอร์มัลออกทานอลและน้ำ เมื่อใช้การประเมินผลทางสถิติที่ระดับความเชื่อมั่น 95% พบว่าค่า log K[subscript ow] ที่ทำนายได้จากค่า log k และ I ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ค่า log K[subscript ow] ที่ทำนายได้มีความสอดคล้องกับค่าที่มีผู้รายงานไว้