Abstract:
ที่มา: การปนเปื้อนเชื้อจุลชีพในระหว่างการเจาะเลือดเพื่อเก็บตัวอย่างเลือดตรวจเพาะเชื้อส่งผลให้ผู้ป่วยอาจได้รับการรักษาที่ไม่จำเป็นและมีจำนวนวันนอนของผู้ป่วยในนานขึ้น คณะผู้วิจัยจึงได้ทำการศึกษาเพื่อศึกษาว่าการถ่ายเลือดลงไปในหลอดเก็บเลือดเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการก่อนจากนั้นจึงค่อยถ่ายเลือดลงในขวดเพาะเชื้อในเลือด จะสามารถลดอัตราการเพาะเชื้อพบเชื้อปนเปื้อนได้หรือไม่
วิธีการวิจัย: คณะผู้วิจัยได้ทำการศึกษาไปข้างหน้าแบบสุ่มและจำลองสถานการณ์จริง โดยทำการศึกษาในหอผู้ป่วยฉุกเฉิน หอผู้ป่วยอายุรกรรม และหอผู้ป่วยวิกฤตอายุรกรรมในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยในช่วงเวลาตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ.2564 จนถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2565 ทำการศึกษาโดยสุ่มลำดับขั้นตอนการถ่ายเลือดหลังจากเจาะเก็บตัวอย่างเลือดจากผู้ป่วยแล้ว ในกลุ่มสลับลำดับการถ่ายเลือด (diversion group) หลังจากเก็บตัวอย่างเลือดจากผู้ป่วยแล้ว จะถ่ายตัวอย่างเลือดลงในหลอดเก็บเลือดเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ 1 หลอดก่อน จากนั้นจึงถ่ายตัวอย่างเลือดที่เหลือลงในขวดเพาะเชื้อในเลือด ในทางกลับกัน สำหรับกลุ่มลำดับการถ่ายเลือดแบบปกติ (standard group) จะถ่ายตัวอย่างเลือดลงในขวดเพาะเชื้อในเลือดก่อน ข้อมูลลำดับการถ่ายเลือดลงในขวดเพาะเชื้อในเลือดและหลอดเก็บเลือดเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการจะถูกปกปิดจากคณะผู้ทำวิจัยทุกคนยกเว้นเจ้าหน้าที่ที่เจาะเก็บตัวอย่างเลือดจากผู้ป่วย จากนั้นจึงคำนวณอัตราการเพาะเชื้อขึ้นเชื้อปนเปื้อนและเปรียบเทียบกันในระหว่าง 2 กลุ่มการศึกษา
ผลการวิจัย: ในช่วงเวลาการทำวิจัย มีตัวอย่างเลือดเข้าร่วมการศึกษาทั้งหมด 640 ตัวอย่าง พบว่าไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติของอัตราการเพาะเชื้อขึ้นเชื้อปนเปื้อนระหว่าง 2 กลุ่มการศึกษา โดยพบร้อยละ 1.2 และร้อยละ 2.4 ในกลุ่ม diversion และกลุ่ม standard ตามลำดับ (P-value = 0.38) และพบว่าไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติของอัตราการเพาะเชื้อขึ้นเชื้อก่อโรคจริงในระหว่าง 2 กลุ่ม (ร้อยละ 4.7 และร้อยละ 3.9 ในกลุ่ม diversion และกลุ่ม standard ตามลำดับ) มีผลเพาะเชื้อขึ้นเชื้อก่อโรคจำนวน 27 ตัวอย่างจากทั้งหมด 640 ตัวอย่าง เชื้อก่อโรคที่พบมากที่สุด คือ Escherichia coli (7 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 25.9) รองลงมาคือ Staphylococcus aureus และ Klebsiella pneumoniae (4 และ 3 ตัวอย่าง ตามลำดับ) และมีผลเพาะเชื้อพบเชื้อปนเปื้อนจำนวน 12 ตัวอย่างจาก 640 ตัวอย่าง (คิดเป็นร้อยละ 1.9) โดยเชื้อปนเปื้อนที่พบมากที่สุด คือ Staphylococcus epidemidis, Staphylococcus haemolyticus, Staphylococcus hominis และ Staphylococcus warneri (ชนิดละ 2 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 16.6)
สรุปผลการวิจัย: จากข้อมูลในปัจจุบันเท่าที่รวบรวมได้ พบว่าการศึกษานี้เป็นการศึกษาวิจัยควบคุมแบบสุ่มที่ทำขึ้นเป็นการศึกษาแรกในประเทศไทยที่ศึกษาการลดอัตราการเพาะเชื้อพบเชื้อปนเปื้อนโดยเปรียบเทียบกันระหว่างขั้นตอนการเก็บตัวอย่างเลือดที่แตกต่างกัน โดยการศึกษาวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่าอัตราการเพาะเชื้อพบเชื้อปนเปื้อนในเลือดนั้นไม่ได้แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในระหว่างกลุ่ม diversion และกลุ่ม standard