Abstract:
วัตถุประสงค์และที่มา การแพ้ยาแบบไม่เฉียบพลันชนิดรุนแรงยังเป็นปัญหาสำคัญที่ก่อให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิต และยังไม่ทราบปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคแน่ชัด ยกเว้นปัจจัยทางพันธุกรรม กลไกการเกิดการแพ้ยาแบบไม่เฉียบพลันนั้นส่วนใหญ่เกิดจากการกระตุ้นให้มีการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันแบบผ่านเซลล์ ซึ่งในปัจจุบันมีการศึกษาเกี่ยวกับวิตามินดีมากมายว่ามีความสัมพันธ์กับระบบภูมิคุ้มกันโดยเฉพาะภูมิคุ้มกันแบบผ่านเซลล์ การศึกษานี้จึงต้องการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างระดับวิตามินดีและการแพ้ยาแบบไม่เฉียบพลัน
วิธีการศึกษา การศึกษานี้เป็นการศึกษาวิจัยแบบมีกลุ่มควบคุม ประกอบด้วยผู้ป่วยที่แพ้ยาแบบไม่เฉียบพลันในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ทั้งหมด 60 ราย โดยมีผู้ป่วยแพ้ยาแบบไม่เฉียบพลันชนิดรุนแรง 30 ราย ชนิดไม่รุนแรง 30 ราย และผู้ป่วยกลุ่มควบคุม 60 รายที่ได้รับยาชนิดเดียวกับผู้ป่วยแล้วไม่มีอาการแพ้ยา ผู้ป่วยทั้ง 120 รายจะได้รับการตรวจวัดระดับวิตามินดี Total Vitamin D (25-OH) โดยจะมีการแบ่งระดับวิตามินดีเป็นภาวะพร่องวิตามินดี (ระดับวิตามินดี < 30 ng/ml) ภาวะขาดวิตามินดี (ระดับวิตามินดี < 20 ng/ml) และภาวะขาดวิตามินดีรุนแรง (ระดับวิตามินดี <10 ng/ml)
ผลการศึกษา ระดับวิตามินดีในผู้ป่วยแพ้ยาแบบไม่เฉียบพลันชนิดรุนแรงมีค่าต่ำกว่าในกลุ่มควบคุม (p=0.012) และผู้ป่วยแพ้ยาแบบไม่เฉียบพลันชนิดไม่รุนแรง (p=0.031) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยระดับวิตามินดีเฉลี่ยในผู้ป่วยกลุ่มแพ้ยาแบบไม่เฉียบพลันชนิดรุนแรง, ชนิดไม่รุนแรง และกลุ่มควบคุม มีค่าเท่ากับ 13.56±6.23, 17.50±7.49, and 17.42±7.28 ng/ml ตามลำดับ โดยผู้ป่วย Stevens-Johnson syndrome มีระดับวิตามินดีต่ำที่สุด คือ 12.28±6.64 ng/ml นอกจากนี้ยังพบภาวะขาดวิตามินดีรุนแรง (ระดับวิตามินดีน้อยกว่า 10 ng/ml) มากถึง 36.67% ในผู้ป่วยแพ้ยาแบบไม่เฉียบพลันชนิดรุนแรง และ 16.67% ในชนิดไม่รุนแรง ส่วนในกลุ่มควบคุมพบเพียง 11.67% ซึ่งน้อยกว่าในกลุ่มแพ้ยาแบบไม่เฉียบพลันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p=0.04) โดยพบว่าภาวะขาดวิตามินดีรุนแรงมีความสัมพันธ์กับการเกิดการแพ้ยาแบบไม่เฉียบพลันถึง 3.77 เท่า (odds ratio=3.77; 95% CI 1.01-14) เมื่อควบคุมปัจจัยรบกวนอื่น ได้แก่ อายุ เพศ ภูมิลำเนา โรคประจำตัว
สรุปผล ผู้ป่วยส่วนใหญ่ในการศึกษาพบภาวะขาดวิตามินดี โดยระดับวิตามินดีในผู้ป่วยแพ้ยาแบบไม่เฉียบพลันชนิดรุนแรงมีค่าต่ำกว่าในกลุ่มควบคุมและแพ้ยาชนิดไม่รุนแรงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และพบว่าผู้ป่วยแพ้ยาแบบไม่เฉียบพลันมีภาวะขาดวิตามินดีรุนแรงมากกว่าในกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยพบภาวะขาดวิตามินดีรุนแรงมากถึง 1 ใน 3 ในผู้ป่วยแพ้ยาแบบไม่เฉียบพลันชนิดรุนแรง การศึกษานี้พบว่าภาวะขาดวิตามินดีรุนแรงมีความสัมพันธ์กับการเกิดการแพ้ยาแบบไม่เฉียบพลัน ซึ่งอาจถือเป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งที่ก่อให้การเกิดการแพ้ยาได้ ในอนาคตอาจมีการให้วิตามินดีเสริมเพื่อลดโอกาสการเกิดการแพ้ยา ซึ่งจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป