Abstract:
ที่มาและความสำคัญ ภาวะกลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลันสาเหตุจากการติดเชื้อมีความสัมพันธ์กับอัตราการเสียชีวิตในโรงพยาบาลที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากหลักฐานเชิงประจักษ์ในปัจจุบันมีการค้นพบกระบวนการทำงานในรูปแบบโครงสร้างเส้นใยร่างแหภายนอกเซลล์นิวโทรฟิล หรือ neutrophil extracellular traps (NETs) ว่ามีบทบาทสำคัญในการเกิดการบาดเจ็บของถุงลมและหลอดเลือดฝอย นำไปสู่การบาดเจ็บของปอดระยะเฉียบพลัน Citrullinated histone H3 (CitH3) เป็นส่วนประกอบหนึ่งที่สำคัญในกระบวนการสร้าง NETs ซึ่งตรวจพบว่ามีปริมาณความเข้มข้นของ CitH3 ที่สูงขึ้นในน้ำเหลืองของผู้ป่วยที่ภาวะช็อกจากการติดเชื้อเปรียบเทียบกับผู้ป่วยที่มีภาวะช็อกจากสาเหตุอื่น
วัตถุประสงค์ของการศึกษา เพื่อศึกษาความสามารถของระดับ CitH3 ในน้ำล้างหลอดลมและถุงลมในการวินิจฉัยแยกกลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลันจากการติดเชื้อกับกลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลันจากการไม่ติดเชื้อ
วิธีการศึกษา ทำการศึกษาในผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤต โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ตั้งแต่เดือน มิถุนายน พ.ศ. 2564 ถึง กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 โดยทำการเก็บน้ำล้างหลอดลมและถุงลม เลือด และข้อมูลทางคลินิกจากผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจที่ได้รับการวินิจฉัยเข้าได้กับกลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลันอ้างอิงตามเกณฑ์ Berlin จากนั้นนำน้ำล้างหลอดลมและถุงลมและเลือดมาตรวจวัดระดับความเข้มข้นของ CitH3 โดยวิธีอีไลซา (Enzyme-linked Immunosorbent Assay, ELISA) การวินิจฉัยสาเหตุของกลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลันว่าเป็นจากการติดเชื้อหรือเหตุอื่นอ้างอิงตามหลักฐานทางจุลชีววิทยาและการวินิจฉัยของแพทย์ผู้ดูแลผู้ป่วย
ผลการศึกษา ผู้ป่วยที่เข้าร่วมการศึกษาจำนวน 12 ราย เป็นผู้ป่วยกลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลันจากการติดเชื้อจำนวน 5 ราย ผู้ป่วยกลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลันจากการไม่ติดเชื้อจำนวน 7 ราย ระดับความเข้มข้นของ CitH3 ทั้งในน้ำเหลืองและน้ำล้างหลอดลมและถุงลมไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างทั้งสองกลุ่ม [ค่ามัธยฐาน (ค่าพิสัยระหว่างควอไทล์): CitH3 ในน้ำเหลือง 118.4 ng/ml (63.13-215.57) เปรียบเทียบกับ63.3 ng/ml (38.86-89.4), p=0.15; CitH3 ในน้ำเหลืองและน้ำล้างหลอดลม 61.92 ng/ml (42.22-106.98) เปรียบเทียบกับ 41.25 ng/ml (28.19-50.1), p=0.23] ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างความเข้มข้นของ CitH3 ในน้ำเหลืองและในน้ำล้างหลอดลมและถุงลม ตรวจพบว่ามีความสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (rs =0.77, p =0.005) อย่างไรก็ตามไม่พบความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างความเข้มข้นของ CitH3 ในน้ำเหลืองและความรุนแรงของการบาดเจ็บของปอดนิยามโดยใช้สัดส่วนระหว่างความดันของออกซิเจนในเลือดแดงเทียบกับสัดส่วนออกซิเจนที่หายใจ (PaO2:FiO2, P:F ratio) ที่ลดลง ไม่พบความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างความเข้มข้นของ CitH3 ในน้ำเหลืองและดัชนีชี้วัดความรุนแรงของโรคทั้ง APACHE score (Acute Physiology and Chronic Health Evaluation score) และ SOFA score (Sequential Organ Failure Assessment score)
สรุปผลการศึกษา ในผู้ป่วยกลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลันจากการติดเชื้อมีแนวโน้มว่าจะมีความเข้มข้นของCitH3 ทั้งในน้ำเหลืองและน้ำล้างหลอดลมและถุงลมสูงกว่าผู้ป่วยกลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลันจากสาเหตุอื่นอย่างไรก็ตามจากการศึกษานี้ยังไม่พบความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ อาจเป็นเพราะจำนวนผู้เข้าร่วมการศึกษามีจำนวนน้อยทำให้การแปลผลการศึกษามีข้อจำกัด จำเป็นต้องมีการศึกษาในกลุ่มผู้ป่วยขนาดใหญ่เพิ่มเติมในอนาคตต่อไป