Abstract:
ที่มาและวัตถุประสงค์: การส่องกล้องช่องเยื่อหุ้มปอดมีข้อบ่งชี้ในผู้ป่วยที่มีน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอดที่ไม่ทราบสาเหตุ โดยในปัจจุบันมีกล้องที่ใช้ในการส่องช่องเยื่อหุ้มปอด 2 ชนิด คือ กล้องส่องช่องเยื่อหุ้มปอดชนิดแข็งและกล้องส่องช่องเยื่อหุ้มปอดชนิดกึ่งแข็ง โดยที่ข้อมูลจากการศึกษาก่อนหน้านี้พบว่าประสิทธิภาพในการวินิจฉัยด้วยกล้องทั้ง 2 ชนิดไม่มีความแตกต่างกัน แต่ระยะเวลาในการทำหัตถการยังมีความแตกต่างกันในแต่ละการศึกษา
วิธีการวิจัย: ทำการวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่มในผู้ป่วยที่มีน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอดที่ไม่ทราบสาเหตุและผู้ป่วยที่สงสัยภาวะน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอดจากมะเร็งแพร่กระจายที่เข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จำนวนทั้งหมด 44 ราย แบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่มการศึกษา และทำการเปรียบเทียบระยะเวลาการทำหัตถการด้วยกล้องทั้ง 2 ชนิด
ผลการศึกษา: จากการศึกษาในผู้ป่วยทั้งหมด 44 รายพบว่า การส่องกล้องช่องเยื่อหุ้มปอดด้วยกล้องชนิดแข็งขนาดเล็กใช้ระยะเวลาในการรักษาและระยะเวลารวมในการทำหัตถการน้อยกว่าการส่องกล้องช่องเยื่อหุ้มปอดด้วยกล้องชนิดกึ่งแข็งอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยที่ประสิทธิภาพในการวินิจฉัย ภาวะแทรกซ้อนจากหัตถการ ปริมาณยาชาและยาแก้ปวดที่ใช้ และคะแนนความเจ็บปวดของผู้ป่วยไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
สรุปผล: การส่องกล้องช่องเยื่อหุ้มปอดด้วยกล้องส่องช่องเยื่อหุ้มปอดชนิดแข็งขนาดเล็กใช้ระยะเวลาในการรักษาและระยะเวลารวมในการทำหัตถการน้อยกว่ากล้องส่องช่องเยื่อหุ้มปอดชนิดกึ่งแข็งอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ