Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการได้รับสิทธิ และการถูกตัดสิทธิ GSP ที่มีต่อมูลค่าการส่งออกในแต่ละอุตสาหกรรม และศึกษาปัจจัยที่ทำให้ผลกระทบของการถูกตัดสิทธิ GSP ในแต่ละอุตสาหกรรมมีความแตกต่างกัน โดยทำการศึกษาตั้งแต่ปี 2553 ถึงปี 2563 ภายใต้รหัส HS-Code 4 หลัก จำนวน 575 สินค้า และทำการวิเคราะห์ด้วยวิธี Panel Regression
ผลการศึกษาพบว่าการได้รับสิทธิ และถูกตัดสิทธิ GSP จากสหภาพยุโรปส่งผลกระทบต่อการส่งออกของอุตสาหกรรมอย่างมีนัยสำคัญ แต่เมื่อทำการวิเคราะห์รายอุตสาหกรรมจะพบว่ามีบางอุตสาหกรรมที่ไม่ได้รับผลกระทบ โดยปัจจัยที่ให้ผลกระทบแตกต่างกันมาจากผลของการลงทุนจากต่างประเทศ ที่มีแนวโน้มทำให้อุตสาหกรรมเกิดการเรียนรู้ทางเทคโนโลยีจนมีผลทำให้ส่งออกได้มากขึ้นแม้จะถูกตัดสิทธิ ในขณะที่กรณีของสหรัฐอเมริกาจะพบว่าการถูกตัดสิทธิมีแนวโน้มทำให้อุตสาหกรรมส่งออกได้มากขึ้น แต่เมื่อทำการวิเคราะห์รายอุตสาหกรรมพบว่ามีบางอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ โดยปัจจัยที่ทำให้ผลกระทบของอุตสาหกรรมแตกต่างกันในกรณีของสหรัฐอเมริกาพบว่าเป็นผลมาจากผลิตภาพแรงงานในอุตสาหกรรมที่ยังขาดประสิทธิภาพ รวมถึงการเผชิญอุปสรรคต่างๆภายในอุตสาหกรรม เช่น ต้นทุนการผลิตสูง กระบวนการผลิตที่ไม่มีประสิทธิภาพ และผลของการลงทุนจากต่างประเทศไม่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ทางเทคโนโลยีจนมีผลทำให้อุตสาหกรรมส่งออกได้ลดลง
สิ่งสำคัญที่อุตสาหกรรมควรให้ความสำคัญหลังจากนี้คือจะเดินหน้าอุตสาหกรรมต่อไปอย่างไรเมื่อไม่มี GSP จากผลการศึกษาผู้วิจัยได้ข้อเสนอแนะว่าอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบควรมีการให้ความสำคัญการพัฒนาแรงงาน พัฒนาหลักสูตร และควรมีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาใช้ในอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และเนื่องจากประเทศไทยได้เผชิญกับสถานการณ์ COVID-19 ผู้บริโภคจึงหันมาใส่ใจในการดูแลสุขภาพมากขึ้น ดังนั้นกระบวนการผลิตจะต้องได้มาตรฐาน และปลอดภัย สำหรับอุตสาหกรรมที่ไม่ได้รับผลกระทบ ซึ่งหากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐจะช่วยทำให้อุตสาหกรรมเติบโตได้ดียิ่งขึ้น