Abstract:
งานศึกษานี้เป็นการจัดทำตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิตแบบไฮบริด ของอุตสาหกรรมพลาสติกในประเทศไทย ปีพ.ศ. 2562 โดยใช้ตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต ปีพ.ศ. 2558 ขนาด 180 สาขาการผลิต และข้อมูลทุติยภูมิที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมพลาสติก เพื่อใช้ในการประเมินผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจด้วยแบบจำลองปัจจัยการผลิตและผลผลิต และประเมินผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมโดยผ่านแบบจำลองปัจจัยการผลิตและผลผลิตแบบผสม ซึ่งผลจากการจัดทำตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิตของอุตสาหกรรมพลาสติก แสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมพลาสติกในประเทศไทยมีมูลค่าผลผลิตรวม 9.16 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.27 ของมูลค่าผลผลิตรวมทั้งหมด ประกอบด้วยค่าใช้จ่ายขั้นกลาง 6.86 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.95 ของค่าใช้จ่ายขั้นกลางรวมทั้งหมด และมูลค่าเพิ่มรวม 2.3 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.35 ของมูลค่าเพิ่มรวมทั้งหมด และจากผลการคำนวณค่าดัชนีตัวทวีคูณผลผลิต พบว่า สาขาการผลิตที่มีค่าดัชนีความเชื่อมโยงผลผลิตไปข้างหน้าของ Ghosh และค่าดัชนีความเชื่อมโยงผลผลิตข้างหลังของ Leontief สูงที่สุดและต่ำที่สุด คือ การผลิตและการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติ และการผลิตเครื่องจักรแปรรูปผลิตภัณฑ์พลาสติก ตามลำดับ ในขณะที่สาขาการผลิตที่เป็นอุตสาหกรรมปลายน้ำอยู่ในกลุ่มของการผลิตเส้นใยสังเคราะห์ การผลิตเม็ดพลาสติก และการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติก นอกจากนี้ หากทำการพิจารณาในมิติทางด้านสิ่งแวดล้อม พบว่า เมื่อมีการดำเนินนโยบายของภาครัฐเกี่ยวกับการลดละเลิกใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกประเภทต่าง ๆ จะส่งผลให้ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมของประเทศไทยลดลงร้อยละ 0.05 จากสถานการณ์ปกติ ขณะที่เมื่อภาครัฐมีการสนับสนุนให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเม็ดพลาสติก จะส่งผลให้ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมของประเทศไทยลดลงร้อยละ 0.20 จากสถานการณ์ปกติ ซึ่งหากต้องการที่จะสนับสนุนอุตสาหกรรมพลาสติกให้เกิดการพัฒนาและสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจร่วมกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ภาครัฐควรที่จะมีการดำเนินนโยบายที่มีความเกี่ยวข้องกับการควบคุมปริมาณการผลิตและใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง ประกอบกับสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีในกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น