Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ในการศึกษา 2 ประการคือ (1) เพื่อศึกษาเปรียบเทียบอัตราการคลิกผ่าน ของอินสตาแกรมสตอรี่ที่ใช้รูปแบบสื่อและการใช้ฟีเจอร์ที่แตกต่างกัน และ (2) เพื่อศึกษาตัวชี้วัดประสิทธิภาพในอินสตาแกรมสตอรี่ (Instagram Story Metric) ที่ส่งผลต่ออัตราการคลิกผ่าน ในการศึกษาครั้งนี้ผู้วิจัยใช้วิธีการทดลอง โดยสร้างโฆษณาบนอินสตาแกรมสตอรี่แบบปกติขึ้นมา 4 รูปแบบ ได้แก่ (1) รูปแบบภาพประกอบข้อความสั้น ที่ไม่มีการใส่สติกเกอร์ปฏิสัมพันธ์ (2) รูปแบบภาพประกอบข้อความสั้นที่มีการใส่สติกเกอร์ปฏิสัมพันธ์ (3) รูปแบบวิดีโอประกอบข้อความสั้นที่ไม่มีการใส่สติกเกอร์ปฏิสัมพันธ์ (4) รูปแบบวิดีโอประกอบข้อความสั้นที่มีการใส่สติกเกอร์ปฏิสัมพันธ์ จากนั้นเก็บข้อมูลการคลิกผ่าน (Clickthrough) และข้อมูลเบื้องลึก (Insight) ที่เกิดขึ้นหลังจากเผยแพร่อินสตาแกรมสตอรี่ไปแล้ว เพื่อทำการวิเคราะห์อัตราการคลิกผ่าน (Clickthrough Rate : CTR) อัตราการคงอยู่ (Retention Rate) อัตราการเข้าถึง (Reach Rate) อัตราการแตะไปข้างหน้า (Tap-forward Rate) อัตราการแตะย้อนกลับ (Tap-backward Rate) และอัตราการกดออก (Exit Rate) จากการศึกษาพบว่ารูปแบบการนำเสนอแบบภาพและวิดีโอ มีผลต่ออัตราการคลิกผ่านแตกต่างกัน การไม่ใช้และการใช้สติกเกอร์ปฏิสัมพันธ์ส่งผลต่ออัตราการคลิกผ่านแตกต่างกัน และมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างรูปแบบสื่อการนำเสนอกับการเลือกไม่ใช้หรือเลือกใช้สติกเกอร์ที่มีผลต่ออัตราการคลิกผ่านแตกต่างกัน การเลือกใช้สติกเกอร์ปฏิสัมพันธ์ รูปแบบสื่อประเภทวิดีโอ อัตราการแตะย้อนกลับ (Tap-backward Rate) อัตราการคงอยู่ (Retention Rate) มีความสัมพันธ์กับอัตราการคลิกผ่าน มากไปหาน้อยตามลำดับ อัตราการกดออก (Exit Rate) อัตราการเข้าถึง (Reach Rate) และอัตราการแตะไปข้างหน้า (Tap-forward Rate) ไม่สามารถสรุปได้ว่ามีความสัมพันธ์กับอัตราการคลิกผ่านในการวิจัยครั้งนี้